ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นอกจากจะต้องระมัดระวังเรื่องสุขภาพแล้ว ยังต้องเผชิญความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความหวาดกลัวด้านต่าง ๆ ล้วนส่งผลต่อสภาวะจิตใจของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนนักศึกษา เนื่องจากต้องเรียนออนไลน์แบบลากยาวมาราว ๆ ปีครึ่งแล้ว
แม้จะมีบางช่วงเวลาเปิดให้นักเรียนกลับไปเรียนที่โรงเรียนบ้างแล้ว แต่ก็ต้องคอยลุ้นว่าแล้วจะต้องกลับไปเรียนที่บ้านอีกเมื่อไหร่ ประมาณว่าได้ไปโรงเรียนบ้างไม่ได้ไปบ้าง ไม่มีความมั่นใจใด ๆ นี่ยังไม่ได้พูดถึงนักศึกษาไทยในต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่ประเทศต้นสังกัดมหาวิทยาลัยยังไม่เปิดให้กลับไปเรียนในห้องเรียนตามปกติอันทำให้ถ้าไม่สะดวกจะเรียนออนไลน์ข้ามประเทศก็ต้องดร็อปไว้ก่อน
ก่อนหน้านี้สหประชาชาติได้เตือนรัฐบาลทั่วโลกให้เตรียมแผนรับมือ เพราะคนนับล้านจะได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ เหตุเพราะต้องเผชิญกับสถานการณ์ความตาย ความเจ็บป่วย ความเศร้า การอยู่โดดเดี่ยว ความยากจน และความเครียดที่เป็นผลจากโรคโควิด-19 ซึ่งล้วนแล้วส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตทั้งสิ้น
ซึ่งนั่นหมายรวมถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนด้วย
ที่ต้องเน้นที่เด็กและเยาวชน เพราะพวกเขาต้องเรียนออนไลน์และใช้ชีวิตอยู่บ้านเป็นหลัก ต้องเผชิญกับความรู้สึกเครียด วิตกกังวล โดดเดี่ยว ฯลฯ หลากหลายอารมณ์ที่ทำให้ช่วงวัยที่ต้องการใช้ชีวิตกับเพื่อน กลับต้องมาใช้ชีวิตในบ้านแบบยังไม่รู้ชะตากรรมว่าเจ้าโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด
ยิ่งข่าวคราวในช่วงโควิด-19 มีเด็กที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองอันเนื่องมาจากภาวะความเครียด ก็เป็นข่าวบ่อยครั้ง สร้างความสะเทือนใจกับสังคมอย่างมาก
คำถามคือ เด็กต้องเจออะไรบ้างจากการเรียนออนไลน์
ประการแรกคือความเครียด ความกังวลเรื่องเรียนออนไลน์ ไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียน กลัวเรียนไม่ทัน กังวลคะแนนจะลดลง ยิ่งถ้าเป็นระดับชั้นที่ต้องชี้ชะตาว่าจะเปลี่ยนสถาบันการศึกษา เช่น สอบเข้า ม. 1, ม. 4 หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะยิ่งเพิ่มภาวะความเครียดเข้าไปอีก เพราะกังวลว่าจะทำผลคะแนนได้ไม่ดี ซึ่งแนวโน้มก็เป็นเช่นนั้น เพราะการเรียนผ่านออนไลน์กับการเรียนในห้องเรียน ถ้าใช้วิธีประเมินแบบเดียวกัน ผลลัพธ์ก็ไม่มีทางเหมือนกัน
หรือแม้แต่ถ้าสภาพแวดล้อมภายในบ้านไม่เอื้ออำนวยให้มีพื้นที่ส่วนตัว ในขณะที่วัยของเด็กที่เริ่มต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสกระทบทั่งกันบ้าง
อีกประการก็คือการบ้านเยอะ ข้อนี้เป็นภาระหนักอึ้งของเด็กที่ต้องเรียนออนไลน์ เพราะลำพังการปรับตัวในการเรียนแบบใหม่เครียดอยู่แล้ว ยังต้องมาทำการบ้านมากขึ้นอีก เด็กบางคนอาจไม่เข้าใจทั้งบทเรียนและต้องทำการบ้านในบทเรียนที่ยังเรียนไม่เข้าใจนั้น ก็สร้างความกดดันเช่นกัน
นี่ยังไม่นับรวมปัญหาเรื่องอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ที่เป็นอุปสรรค อาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพ เรื่องไวไฟ หรือแม้แต่เครื่องมือที่ใช้สำหรับการเรียน เพราะบางบ้านไม่มี บางบ้านอาจมีเด็กหลายคน ทำให้มีเครื่องมือไม่เพียงพอ ก็เป็นอุปสรรคเช่นกัน
จึงควรเป็นเรื่องของพ่อแม่ผู้ปกครองต้องจับสัญญาณความเครียดของเด็กด้วยว่าการเรียนออนไลน์ของลูกมีปัญหาหรืออุปสรรคหรือไม่ เพราะเด็กในแต่ละวัยก็มีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน
สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมากก็คือภาวะความเครียด แม้ผู้ใหญ่เองก็เผชิญภาวะความเครียดอยู่แล้ว แต่ก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า เด็กมีข้อจำกัดในการช่วยเหลือตัวเองในการจัดการกับภาวะความเครียดและอารมณ์ของตัวเอง บางคนรับมือได้ดี แต่เด็กบางคนไม่สามารถรับมือได้ จึงต้องให้ความช่วยเหลือ
แม้ก่อนหน้านี้พ่อแม่ผู้ปกครองจะพยายามปลูกฝังทักษะชีวิตให้ลูกเข้มแข็งมากเพียงไร แต่ยามเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะสามารถรับมือได้ดี เพราะปัญหาชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน รายละเอียดของชีวิตและจิตใจก็เข้มแข็งเปราะบางแตกต่างกัน อาจจะรับมือได้มากหรือน้อยแตกต่างกันไป ฉะนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ บทบาทของพ่อแม่ที่ควรมี
หนึ่ง – สังเกตความเปลี่ยนแปลง
ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อมีเรื่องไม่สบายใจของลูก สิ่งเหล่านี้เป็นอาการภายนอกที่สามารถพบเห็นได้ และหากพ่อแม่สังเกตแล้วรีบหาทางแก้ไข ก็จะทำให้มีโอกาสรับมือได้อย่างทันท่วงที แต่หากปล่อยอาการเหล่านี้ทิ้งไว้ หรือไม่ตระหนักต่อปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ โอกาสที่จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นก็เป็นได้
เมื่อสังเกตเห็นพฤติกรรมหรือความเปลี่ยนแปลงบางประการของลูกว่า ตกอยู่ในสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ หรือประสบภาวะความเครียด พ่อแม่หรือคนในบ้านต้องไม่ปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว ควรอยู่เป็นเพื่อน หรือคอยสังเกตห่วงใยแบบห่าง ๆ ก็ได้ แต่ต้องแสดงให้เขารู้ว่าพ่อแม่รักและห่วงเขาเสมอ ถ้าลูกต้องการพูดคุยเมื่อไหร่ พ่อแม่ก็พร้อมรับฟังและจะยืนเคียงข้างเขาทุกเมื่อ
สาม – ชวนทำกิจกรรมร่วมกัน
การทำกิจกรรมร่วมกันจะช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้น อาจชวนให้ลูกเป็นคนออกแบบกิจกรรมก็ได้ โดยเริ่มจากกิจกรรมที่ลูกชอบ เช่น ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ฯลฯ แล้วค่อยหาทางผ่อนคลายให้ลูก ใช้เวลาร่วมกัน แล้วค่อยๆ ให้ลูกได้ระบายความรู้สึก โดยที่พ่อแม่ทำหน้าที่รับฟัง ปลอบโยน และแสดงความพยายามหาทางช่วยเหลือ
สี่ – กำลังใจและพลังบวกช่วยได้
คำพูดด้านบวกและกำลังใจที่ดีสำคัญเสมอสำหรับสภาวะจิตใจที่อ่อนแอ ต้องหลีกเลี่ยงคำพูดซ้ำเติมหรือด้านลบ หรือแสดงความคิดเห็นในเชิงลบต่อปัญหา พยายามใช้คำพูดด้านบวกและชี้ให้ลูกเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง ทุกคนล้วนมีปัญหาแต่ต่างกันตรงที่จะแก้ปัญหาแบบมีสติได้อย่างไร อาจยกตัวอย่างของกรณีที่ยากลำบากของคนที่สามารถลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาได้จนสำเร็จ
หากครอบครัวมีความเข้าใจ ลูกก็จะลดความกดดันและความเครียดไปได้มาก อีกเรื่องที่ทำได้คือ คอยสอดส่องดูความเป็นอยู่ เรื่องพฤติกรรมการกิน การนอน การปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว
แต่ทั้งนี้พ่อแม่ต้องเข้าใจชีวิตอย่างรอบด้านด้วย และไม่เป็นส่วนหนึ่งของการกดดันชีวิตลูก ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ต้องมีพื้นที่สำหรับการผ่อนคลาย การพูดคุย และการให้เวลาในครอบครัว เพื่อพูดคุยสิ่งต่าง ๆ ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ
และถ้าสังเกตเห็นว่ามีความผิดปกติบางอย่าง ลองชวนเขาพูดคุย แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นจนครอบครัวไม่รู้จะรับมืออย่างไร ก็ควรพาไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เรื่องเรียนออนไลน์ก็ต้องขึ้นอยู่กับโรงเรียนด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญที่อยากจะย้ำไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัย แต่อยากให้เน้นเรื่อง “เนื้อหาการเรียนรู้” และ “กระบวนการเรียนรู้”ด้วย
เนื้อหาการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิด-19 ควรจะมีการปรับให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย การให้การบ้านก็ควรคำนึงถึงความเหมาะสม ไม่ควรมีจำนวนมาก ซึ่งหมายรวมถึงวิธีการประเมินการเรียนการสอนด้วย เพราะเมื่อสถานการณ์วิกฤติ การเรียนรู้เปลี่ยนไป ก็ต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น การประเมินก็ต้องเปลี่ยนด้วย
ผู้ใหญ่พูดเสมอว่าเด็กคืออนาคต แล้วทำไมเราไม่ให้สำคัญกับ “วิธีการ” ที่เรากำลังสร้างอนาคตให้เด็กล่ะ
ถ้าตระหนักและลงมือทำกัน เราก็จะได้ไม่ต้องพบกับข่าวเศร้ากันอีก