สพฐ. ร่วมกับ ม.สวนดุสิต และ ม.กวางสี ผลิตบัณฑิต หลักสูตรธุรกิจจีน-อาเซียน เรียน 2 ประเทศ รับ 2 ปริญญา เริ่มเรียนระดับอุดมศึกษาตั้งแต่มัธยมปลาย
วันนี้ (1 ก.ค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยกวางสี แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการความร่วมมือทางการศึกษา “1+2+1” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้นักศึกษาเรียนจบเร็วขึ้นแล้ว ยังได้รับปริญญาบัตรถึง 2 ใบ จาก 2 ประเทศ จากการได้เข้าศึกษาใน 2 สถาบัน
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและลูกค้าสัมพันธ์ และประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ปฏิบัติการแทนอธิการบดี และ ศ.ดร.ฟ่าน จั้วจวิน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกวางสี มหาวิทยาลัยชั้นนำในโครงการ 211 ของ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการความร่วมมือทางการศึกษา “1+2+1” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน โดยโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและต่อยอดนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีความเป็นเลิศทางภาษาและมีสมรรถนะที่เหมาะสม รวมทั้ง มีความสนใจในด้านการพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ ได้เข้าเรียนในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียนและพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบการศึกษาของประเทศไทยสู่ระบบการศึกษาในระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “1+2+1” จะคัดเลือกนักเรียนที่จบการศึกษาระดับ
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าเริ่มเรียนระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในชั้นปีที่ 1 ควบคู่กับการเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากนั้น จะเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเวลา 2 ปี แล้วกลับมาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และสามารถเลือกทำสารนิพนธ์ในประเทศไทยหรือจีน ภายใต้การให้คำปรึกษาของ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยกวางสี และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้รับปริญญาบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และปริญญา Bachelor of Economics majoring in Economy and Trade จากมหาวิทยาลัยกวางสี
โดย ดร. อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ความร่วมมือทางการศึกษาครั้งนี้ เป็นโอสกาสดีที่ สพฐ. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะได้สร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้เห็นทิศทางในการจัดการศึกษาในเชิงธุรกิจ สนใจในการศึกษาภาษาจีนซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภาษาสากล สอดรับกับยุทธศาสตร์ของชาติในการสร้างทุนมนุษย์ และพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ดำเนินงานทางธุรกิจระหว่างประเทศที่มีคุณภาพ และสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติในอนาคต
ด้าน รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิตร่วมกับ มหาวิทยาลัยกวางสี พัฒนาหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน เพื่อผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์ของตลาดแรงงาน และได้ปรับระเบียบข้อบังคับ รวมถึงจัดเตรียมบุคลากรให้สอดคล้องกับโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “1+2+1” ในครั้งนี้
เช่นเดียวกับ ศ.ดร.ฟ่าน จั้วจวิน รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยกวางสี ที่กล่าวยินดีที่ได้ร่วมพัฒนานักศึกษาไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยกวางสี เป็นมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือที่มีมาอย่างยาวนาน ดำเนินการพัฒนาบุคลากรระหว่างประเทศร่วมกันผ่านโครงการต่าง ๆ มาจำนวนมาก แต่ถือได้ว่าโครงการนี้ มีลักษณะพิเศษยิ่งกว่าโครงการอื่นๆ เนื่องจาก มหาวิทยาลัยกวางสียินดีที่จะอนุมัติปริญญาให้กับผู้สำเร็จการศึกษา นับว่าเป็นความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานและลึกซึ้งระหว่างสองมหาวิทยาลัย
ขณะที่ ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและลูกค้าสัมพันธ์ และประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ได้กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นการนำศักยภาพของทั้งสามภาคีเครือข่ายมาร่วมกันพัฒนาเยาวชนไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล นักเรียนที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับการศึกษาภายใต้การบริหารจัดการที่ทันสมัย รายวิชาที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรเป็นรายวิชาที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานโลกยุคใหม่และอยู่บนพื้นฐานของระบบนิเวศน์ธุรกิจในยุคดิจิทัล นับเป็นการพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบการศึกษาของประเทศสู่ระบบการศึกษาในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง
สำหรับโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “1+2+1” การศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน จะเริ่มรับสมัครนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่มีผลสอบการวัดระดับภาษาจีน (HSK) ในระดับ 3 ขึ้นไปเข้าสอบคัดเลือก เพื่อเริ่มเรียนตามแผนการเรียนของหลักสูตรในเดือนสิงหาคม 2564