โฆษก กทม. เผย กรุงเทพมหานครปรับแผนรับผู้ป่วยโควิด-19 ตกค้าง ประสานหน่วยงานรัฐ-เอกชนเร่งเพิ่มเตียง กลุ่ม "เขียว-เหลือง-แดง" อีกกว่า 3.9 พันเตียง จี้รัฐบาลป้อนวัคซีน คาดฉีดเกิน 70% คุมระบาดได้
วันนี้ (28 มิ.ย.) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang” ระบุว่า การรับมือกับสถานการณ์วิกฤติของ กทม.
ในตอนนี้สถานการณ์เตียงใน รพ. ของ กทม.อยู่ที่ 96.06% ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง จากเดิมการจัดการด้านเตียงผู้ป่วยโควิดของ ศบค. โรงพยาบาลสังกัด กทม. (10 รพ.) มีหน้ารับผิดชอบรับผู้ป่วยโควิดอาการระดับสีเขียวทั้งหมดจากการตรวจเชิงรุก กทม. จึงได้ขยายจำนวนเตียงที่สามารถรับผู้ป่วยโควิด ได้จาก 1,934 เตียง เป็น 2,946 เตียง
ในส่วนของผู้ป่วยโควิดระดับอาการสีแดงและสีเหลือง จะเป็นการรับโดย รพ. ใหญ่ ๆ ซึ่งมีศักยภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยวิกฤต แต่ตอนนี้สถานการณ์ข้อเท็จจริง รพ.นอกสังกัดกรุงเทพมหานครเหล่านี้ ได้รับผู้ป่วยเต็มศักยภาพแล้ว
โรงพยาบาล กทม.ทั้งหมด จึงต้องเปลี่ยนเป็น การรับผู้ป่วยจากผู้ป่วยอาการสีเขียว เป็นรับผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดง โดยในส่วนผู้ป่วยสีเขียวได้ใช้โรงพยาบาลสนามทั้ง 3 แห่ง และโรงพยาบาลโรงแรม (Hospitel) รับแทน รวมทั้งสิ้น 1,346 เตียง
แต่ด้วยสถานการณ์วิกฤตนี้ ทำให้ กทม. ตั้งแต่ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา กทม. เตรียมพร้อมรับสถานการณ์วิกฤตที่จะเกิดขึ้น ในส่วนผู้ป่วยสีเขียว กทม. ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน ช่วยกันขยายเตียง จะเปิดให้ได้มากขึ้นอีก 1,694 เตียง ซึ่งบางส่วนได้เปิดเพิ่มขึ้นแล้ว เช่น โรงแรม The Bazaar รัชดาร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท จำนวน 300 เตียง โรงแรม Two Three และโรงแรม The green hotel ร่วมกับโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ จำนวน 1,250 เตียง สถาบันพัฒนาข้าราชการ กทม. ร่วมกับ หมอแล๊ป และ รพ. สหวิทยาการมะลิ 144 เตียง
และ กทม. มีแผนจะเพิ่มเตียงเหลืองและแดงให้ได้อีก 526 เตียง ซึ่งในอาทิตย์นี้จะเริ่มเปิดรับผู้ป่วยวิกฤตเหล่านี้ได้มากขึ้น ได้แก่ รพ.สนามกองทัพบก มทบ. 11 เปิดรับผู้ป่วยได้ในวันที่ 2 ก.ค. รพ. สนาม ราชพิพัฒน์ 1 เปิดได้ในวันที่ 10 ก.ค. โดยใช้นวัตกรรม Modular ICU ที่ได้รับความร่วมมือจาก SCG ในการสร้างห้องความดันลบ และร่วมบริจาค และยังได้รับความร่วมมือในการสนับสนุนทีมบุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์เอกชน จาก รพ. ธนบุรี ที่มาช่วยในการบริหารจัดการและดูแลผู้ป่วย ทั้งที่ มทบ. 11 และที่ รพ. สนาม ราชพิพัฒน์ 1
รวมทั้งสิ้นจะสามารถรับผู้ป่วยโควิดอาการสีเขียว 3,040 เตียง และผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลือง-แดงได้ 886 เตียง
การมีเตียงเพิ่มเตียงเหล่านี้ จะสามารถเร่งแก้ไขปัญหาผู้ป่วยตกค้างได้ ซึ่งแม้ปัจจุบันศูนย์เอราวัณจะทำงานอย่างเต็มที่ ส่งไปรับการรักษาทั้งหมด ตั้งแต่การระบาดระลอกเดือนเมษายนมา 15,893 ราย แต่ก็ยังมีการตกค้างอยู่
ถึงแม้ว่าสุดท้าย การดำเนินการดังกล่าว จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องเตียงและลดการระบาดได้ แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาได้ชั่วคราวเหมือนที่เราเคยแก้ไขได้เมื่อการระบาดในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
แต่วัคซีนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขวิกฤตนี้ได้ในระยะยาว ซึ่ง กทม.ร่วมกับ หอการค้าไทย ภาคเอกชน และ รพ.ต่างๆ ในกทม. เตรียมพร้อมศูนย์ฉีดนอก รพ. 25 ศูนย์ ที่มีศักยภาพในการฉีด 50,000-70,000 คน/วัน
ซึ่งหากได้รับวัคซีน ศูนย์เหล่านี้สามารถที่จะฉีดให้พี่น้องชาวกทม. ได้ถึง 70% ภายในเดือนกว่าๆ และจะทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ
พร้อมแฮชแท็ก #โควิดกรุงเทพ