“Sandbox” กลายเป็นคำฮิตของผู้คนยุคนี้ ภายหลังจากมีนโยบายเปิดประเทศ โดยเริ่มจากจังหวัดภูเก็ต ล่าสุดครม.มีมติรับทราบจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ถึงการดำเนินมาตรการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคมนี้
แผนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นโครงการที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วสามารถเข้าประเทศไทย โดยมีเกณฑ์การรับนักท่องเที่ยว รวมถึงจัดทำระบบติดตามผลการปฏิบัติงาน ข้อมูลการเข้าออกของนักท่องเที่ยว การเฝ้าระวังและติดตาม ประเมินสถานการณ์การติดเชื้อ หรือข้อคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติและแนวทางแก้ไข
ก่อนหน้านี้ดิฉันได้ยินคำว่า Sandbox มาจากซีรีส์ Netflix จากประเทศเกาหลีใต้ เรื่อง START-UP ซึ่งเป็นซีรี่ส์ที่ครอบครัวเราติดตามกันด้วยความสนุกสนานและลุ้นไปด้วย
ใครที่ได้ชมภาพยนตร์ซีรีส์ STRAT-UP คงคุ้นเคยกับ “Sandbox” สถานที่หลักในเรื่องซึ่งเป็นองค์กรด้านธุรกิจและเทคโนโลยีที่สนับสนุนและคอยปลุกปั้นสตาร์ทอัพของเกาหลีใต้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่มีความฝันมาทดสอบเทคโนโลยี ก่อตั้งธุรกิจใหม่ๆ เดินเรื่องด้วยชีวิตของคนวัยหนุ่มสาวที่ก้าวเดินจากจุดเริ่มต้นจนเติบโตในธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้วยความใฝ่ฝันที่อยากจะประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ และมีชื่อปรากฏใน Silicon Valley ของเกาหลีใต้
โลโก้ของแซนด์บ็อกซ์ เป็นรูปเด็กผู้หญิงที่กำลังนั่งไกวชิงช้าบนพื้นทราย ซึ่งได้แฝงความหมายไว้เปรียบการนั่งชิงช้าบนพื้นทรายเหมือนกับการเริ่มต้นธุรกิจ ที่สนามเด็กเล่นจะมีการเทพื้นทรายเพื่อไม่ให้เด็กๆ เจ็บตอนหกล้ม เพื่อสะท้อนว่าในการเริ่มทำธุรกิจก็เช่นกัน เป็นการบอกผู้ประกอบการว่า อย่าเจ็บปวดแม้ธุรกิจจะล้มเหลว
ซีรี่ส์เกาหลีใต้เรื่องนี้น่าสนใจและติดตามมาก ทำให้เกิดกระแสผู้คนเข้าใจและรู้จักการทำธุรกิจสตาร์ทอัพมากยิ่งขึ้น เพราะเรื่องราวถูกถ่ายทอดออกมาให้เข้าใจง่าย ผ่านตัวละครที่สะท้อนบุคลิกของผู้เล่นในวงการธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีทั้งคนเก่ง คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ผู้ที่มีความตั้งใจ นักธุรกิจที่มีแผนที่ชัดเจนในการดำเนินงาน รวมทั้งกลุ่มคนที่มีความฝันแต่ยังขาดการแต่งแต้มเติมเต็มให้เป็นสตาร์ทอัพที่สมบูรณ์แบบ
ความจริงเนื้อเรื่อง START-UP เป็นภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ที่ต้องการสะท้อนสิ่งที่รัฐบาลต้องการบอกว่าเขาให้ความสำคัญกับการสร้างคนรุ่นใหม่ในประเทศ รวมไปถึงการสร้างสตาร์อัพสายเทคโนโลยี
แล้วแบบไหนถึงจะเป็น Sandbox ?
ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และอดีตรองเลขาธิการสายงานเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) อธิบายว่าแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) เป็นชื่อที่ใช้กันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970s ในยุคเริ่มต้นของการพัฒนาคอมพิวแตอร์ส่วนบุคคลโปรแกรมเมอร์จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ตัดขาดจากระบบกลางเพื่อทดสอบโค้ด หรือโปรแกรมที่กำลังพัฒนาไม่ให้ข้อมูลปะปนกัน หรือส่งคำสั่งที่ขัดแย้งจนสร้างความเสียหายกับฮาร์ดแวร์ในส่วนอื่น ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ปัจจุบันการทำแซนด์บ็อกซ์เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม เพื่อรองรับระบบฐานข้อมูลที่อยู่บนเทคโนโลยีคลาวด์ เช่น เว็บไซต์ที่สร้างใหม่บนอินเตอร์เน็ต จะถูกนำไปรวมไว้ในกูเกิลแซนด์บ็อกซ์ เพื่อทดสอบและคัดกรอง ผู้พัฒนาจะต้องปรับแต่งเว็บไซต์ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขก่อนจึงจะหลุดจากหลุมแซนด์บ็อกซ์ และเปิดใช้งานได้เนื่องจากความหมายของแซนด์บ็อกซ์คือกล่องทราย จึงนำไปเปรียบเทียบกับ ‘กระบะทราย’ ที่เด็กใช้เล่นปั้นแต่งทรายให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามจินตนาการ
คำนี้เริ่มนำมาใช้อย่างแพร่หลายกับโครงการที่ใช้ทดสอบนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นธุรกิจที่จะช่วยอำนวยความสะดวก และยกระดับคุณภาพชีวิต การทดสอบผลิตภัณฑ์ หรือบริการต้นแบบ จะอยู่ภายใต้ระบบนิเวศที่กฎระเบียบไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา แต่ก็ต้องมีการควบคุมกำกับดูแลเพียงพอที่จะไม่หลุดไปสร้างความเสียหายให้ผู้บริโภคในวงกว้าง แนวคิดการทำแซนด์บ็อกซ์ จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่แวดวงคอมพิวเตอร์
เป้าหมายของแซนด์บ็อกซ์ คือทดสอบก่อนนำไปใช้จริง ดูแล้วไม่แตกต่างจากการจัดทำโครงการนำร่อง (Pilot Project) ซึ่งเป็นการทดสอบความเป็นไปได้ของแนวคิด ก่อนนำไปขยายผลในวงกว้าง
เห็นโมเดลการให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังแบบนี้ก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้า Sandbox ถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดและแนวทางการศึกษาในบ้านเราแบบจริงจังก็คงจะดี !
โรงเรียนแซนบ็อกซ์ !
ถ้าหากการศึกษาไทย มีการนำแนวคิดแบบ Sandbox มาปฏิรูปการศึกษา หรือสร้างพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเรียนรู้หรือทดลอง ให้สามารถสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา โดยใช้หลักคิดในการสร้างคนให้เหมาะกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน มีนโยบายปรับสภาพการเรียนรู้ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมจริงในแต่ละพื้นที่ อะไรที่รกรุงรังไม่จำเป็นก็ต้องตัดทิ้ง ไม่อิงกับระเบียบหรือกฎข้อบังคับที่ทำให้การศึกษาไทยก้าวไปไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
อยากฝันให้ไกลไปให้ถึงโรงเรียน Sandbox