เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ที่ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกันจัดเสวนาในหัวข้อ "วิถีชีวิตใหม่ รถรับ-ส่งนักเรียน อย่างไร ให้ปลอดภัยห่างไกลโควิด” เพื่อหาแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการใช้บริการรถรับ-ส่งนักเรียนรวมถึงการหามาตรการป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับ-ส่งนักเรียน ที่พบสถิติการเกิดอุบัติเหตุ และเด็กนักเรียนเสียชีวิตจำนวนมาก
โดยนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบบูรณาการการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2561 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 10-24 ปี ซึ่งเป็นวัยเรียนมากถึง 5,131 คนหรือคิดเป็นภาพรวมมากถึง ร้อยละ 25.7 ในจำนวนนี้พบว่ารถจักรยานยนต์ เป็นยานพาหนะอันดับ 1 ที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ซึ่งในบางพื้นที่การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะไม่ตอบโจทย์ความจำเป็นในการเดินทาง เช่น รถรับ-ส่งนักเรียนที่ไม่สะดวก ส่งผลให้ทางเลือกในการเดินทางมีอย่างจำกัด ทำให้นักเรียนต้องเดินทางโดยใช้จักรยานยนต์ โดยส่วนใหญ่อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นระหว่างการใช้รถจักรยานยนต์เดินทางไป-กลับโรงเรียน ปัญหานี้จำเป็นต้องช่วยกันแก้ไขด้วยการจัดหารถโรงเรียนที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตลงได้
“จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในปี 2561 พบว่า ภาคตะวันออก เป็นภาคที่มีสถิติอุบัติเหตุมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งใน 4 อันดับแรกที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดในภาคกลาง สสส. และภาคีเครือข่าย จึงดำเนินงาน“โครงการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม” ในการหาทางออกร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดการสูญเสียจากการใช้บริการรถรับส่งนักเรียน ซึ่งหลังจากนี้จะขยายวงการพูดคุยแก้ปัญหาไปในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป นอกจากนี้ ในสถานการณ์การระบาดโควิดยังต้องให้ความสำคัญกับมาตรการการป้องกันโรคและความปลอดภัย ด้วยการจำกัดผู้โดยสาร ใส่หน้ากากทุกครั้ง ลดการพูดคุย ไม่รับประทานอาหารในรถ ช่วยป้องกันและลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้” นางสาว รุ่งอรุณ กล่าว
นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคใน6 ภาคร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รวบรวมข้อมูลความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนทั่วประเทศพบว่า ส่วนใหญ่สภาพรถรับส่งนักเรียนไม่ได้ตามมาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ดังนี้ 1. มีการดัดแปลงเพื่อรับเด็กนักเรียนให้ได้จำนวนมากขึ้น เช่น โครงสร้างรถไม่แข็งแรง มีการต่อเติมท้ายรถยื่นออกมา หรือไม่มีเหล็กกั้นกันตกในตอนท้ายของรถสองแถว เพราะส่วนใหญ่ให้บริการรับส่งนักเรียนครั้งละหลายโรงเรียนในละแวกเดียวกัน 2.ขาดอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ควรมีในรถ 3.พฤติกรรมเสี่ยงและประมาทของคนขับรถ เช่น ขับรถเร็ว การลืมเด็กไว้ในรถ 4.กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงเรียน ผู้ปกครอง นักเรียน หรือคนขับรถ ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการป้องกัน หรือมาตรการความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งการพัฒนาให้รถรับส่งนักเรียนมีมาตรฐาน จำเป็นต้องมีการลงทุนในการปรับปรุงสภาพรถ จึงทำให้เป็นข้ออุปสรรคสำคัญในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพรถรับส่งนักเรียนของผู้ประกอบการในปัจจุบัน
นายศุภกร การสมบัติ หัวหน้าฝ่ายกิจการนักเรียนและงานบุคคล โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับนักเรียนทั้งหมดเกิดขึ้นกับเด็กที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยปัจจัยหลักยังมาจากการขับรถเร็ว ส่วนอุบัติเหตุที่เกิดจากรถรับส่งนักเรียนยังไม่พบ แต่ทางโรงเรียนยังเล็งเห็นถึงความสำคัญ ได้ออกมาตรการร่วมกันกับผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ โดยมีเด็กนักเรียนขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียนประมาณ 200 คน โดยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มนี้กว่า 10 กรณี ทางโรงเรียนจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาให้ความรู้กับนักเรียนหน้าเสาธง พร้อมตั้งกลุ่มไลน์เพื่อพูดคุยกับผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนทุกคัน เพื่อเป็นการป้องกัน และหาทางออกร่วมกันหาเกิดปัญหาขึ้น
นางสาวชลดา บุญเกษม หัวหน้าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เด็กนักเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปัญหาการเข้าถึงรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากการเดินรถยังไม่ครอบคลุมทั้งจังหวัด ทำให้เกิดธุรกิจรถรับส่งนักเรียนในพื้นที่มีจำนวนมาก ที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ารถที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ ส่วนหนึ่งไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงตั้งกลไกคุ้มครองสิทธิประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขนส่งจังหวัดตำรวจสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนพนักงานขับรถ เป็นต้นให้ปรับปรุงรถรับส่งนักเรียนเป็นไปตามข้อกำหนด พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนหากเกิดปัญหาจากการใช้รถรับส่งนักเรียน เสนอให้ภาครัฐออกนโยบายให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการใช้รถรับส่งนักเรียนในทุกประเด็น เพราะจะทำให้ทุกโรงเรียนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น