xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ยังหนัก ติดเชื้อโควิดวันนี้ 973 ตาย 24 เผยระลอก 3 เหยื่อเป็นผู้ป่วยติดเตียงมากขึ้น เพชรบุรียอดพุ่ง 658 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค. เผยไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 3,759 ราย กำลังรักษาอยู่ 46,150 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 1,226 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 405 ราย พบผู้เสียชีวิตใน กทม. มากสุด 24 ราย ปัจจัยเสี่ยงยังเป็นโรคประจำตัว มีหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย อัตราส่วนเสียชีวิตระลอก 3 เป็นผู้ป่วยติดเตียงมากขึ้น เพชรบุรียอดพุ่งขึ้น 658 ราย ส่วนอีกหลายจังหวัดแนวโน้มดีขึ้น

วันนี้ (28 พ.ค.) เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,759 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 2,465 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,294 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 144,976 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 4,044 ราย สะสม 97,872 ราย กำลังรักษาอยู่ 46,150 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 18,971 ราย และโรงพยาบาลสนาม 27,179 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,226 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 405 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 34 ราย รวมเสียชีวิต 954 คน

ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 3,759 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,374 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,073 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,294 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 18 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 34 ราย ชาย 18 ราย หญิง 16 อยู่ใน กทม. 24 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นครศรีธรรมราช 2 ราย ชลบุรี นครราชสีมา ตาก นครสวรรค์ ร้อยเอ็ด จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัวยังเป็นปัจจัยหลักเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค มีความดันโลหิต เบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จากการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว อายุค่ากลาง 69 ปี อายุน้อยสุด 33 ปี อายุมากสุด 92 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ มีผู้ตั้งครรภ์ 1 ราย มี 8 รายเสียชีวิตในสัปดาห์แรก หลังทราบพบเชื้อ มีผู้เสียชีวิตรักษาอยู่ 49 วันในโรงพยาบาล

ผู้ป่วยที่เสียชีวิตในระลอกแรก มีอัตราการเสียชีวิต 1.42% ระลอก 2 เสียชีวิต 0.14% ระลอก 3 นี้ เสียชีวิต 1.23% ช่วงอายุเกิน 60 ปียังคงมีความเสี่ยงสูงสุด การมีโรคประจำตัว มีปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิตมาก ระยะเวลาเฉลี่ยในการเสียชีวิต ราว 12 วัน โดยในระลอกที่ 3 นี้ พบว่า มีถึง 54 รายที่เสียชีวิตในวันเดียวกับที่พบเชื้อ หรือก่อนการพบเชื้อ ในกลุ่มนี้พบมีผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งญาติจะอาจจะไม่ได้สังเกตเห็นจึงกว่าจะได้รับรักษาจึงมีอาการรุนแรงแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือ ผู้ที่ไม่ทราบว่าตัวเองมีประวัติเสี่ยง บางส่วนไม่ทราบว่าติดเชื้อ, ซื้อยามารับประทานเอง, กักตัวเองอยู่ที่บ้าน ทำให้เมื่อได้รับการรักษาในขณะที่มีอาการรุนแรง

สถานการณ์ในประเทศ แนวโน้มยังสูงอยู่ โดยเฉพาะในการค้นหาเชิงรุก และในเรือนจำ สำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ จากอินเดีย 4 ราย เป็นคนไทยเดินทางกลับบ้าน โอมาน 1 ราย อินโดนีเซีย 1 ราย ชาวฟิลิปปินส์เป็นวิศกรแท่นขุดเจาะน้ำมัน มาทางเรืออยู่ในระหว่างกักตัว ในน่านน้ำจ.สงขลา ไม่ได้ขึ้นฝั่ง และมาเลเซีย 1 ราย เข้ามาผ่านด่านข้ามแดนถาวร (ทางบก) กัมพูชา 11 ราย เข้ามาผ่านด่านข้ามแดนถาวร (ทางบก) เช่นกันอย่างถูกตัอง ผู้ลักลอบเข้าเมืองลดลงเหลือ 54 ราย มาจากพม่า ลาว กัมพูชา ส่วนมาเลเซียมีการเฝ้าระวังชายแดน แต่ยังไม่พบผู้ลักลอบ

10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 28 พ.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 973 ราย 2. เพชบุรี 658 ราย 3. สมุทรปราการ 221 ราย 4. นนทบุรี 102 ราย 5. สมุทรสาคร 55 ราย 6. ชลบุรี 42 ราย 7. ปทุมธานี 39 ราย 8. สงขลา 39 ราย 9. นครปฐม 36 ราย 10. พระนครศรีอยุธยา 32 ราย

ส่วนสถานการณ์แต่ละจังหวัด กทม. ยังพบผู้ติดเชื้อสูง เพชรบุรีพบเพิ่มอีก 658 ราย มี 29 จังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อ และมีหลายจังหวัดที่มีแนวโน้มดีขึ้น เช่น เชียงใหม่ ไม่พบผู้ติดเชื้อเกิน 10 ราย


ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 116,112 ราย หายป่วยสะสม 70,446 ราย เสียชีวิตสะสม 860 ราย

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 169,623,481 ราย อาการรุนแรง 97,905 ราย รักษาหายแล้ว 151,331,012 ราย เสียชีวิต 3,525,023 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 33,999,680 ราย
2. อินเดีย จำนวน 27,547,705 ราย
3. บราซิล จำนวน 16,342,162 ราย
4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,635,629 ราย
5. ตุรกี จำนวน 5,220,549 ราย

ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 84 จำนวน 144,976 ราย
















กำลังโหลดความคิดเห็น