xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งสอบสวนควบคุมโรคในแคมป์คนงานหลักสี่ หลังพบสายพันธุ์อินเดีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ. เร่งสอบสวนควบคุมโรคในแคมป์คนงานหลักสี่ หลังพบสายพันธุ์อินเดีย ข้อมูล สธ.อังกฤษพบการแพร่ระบาดและความรุนแรงไม่ต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพ แนวทางการรักษาและควบคุมโรคยังเหมือนเดิม ย้ำการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ไม่มีการปิดกั้นภาคเอกชน

วันนี้ (21 พ.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวกรณีแคมป์ก่อสร้างในพื้นที่เขตหลักสี่ พบการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย ว่า ธรรมชาติเชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา โดยสายพันธุ์ที่ให้ความสนใจคือ กลายพันธุ์แล้วแพร่ระบาดง่ายขึ้น ก่อโรครุนแรงหรือเสียชีวิตมากขึ้น และส่งผลให้วัคซีนป้องกันโรคไม่มีประสิทธิภาพ ขณะนี้การระบาดในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ มีสายพันธุ์จี และสายพันธุ์ดั้งเดิมเล็กน้อย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับห้องปฏิบัติการมหาวิทยาลัยต่างๆ ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโควิด-19 เพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่างๆ โดยจากการตรวจ 61 ตัวอย่าง พบ 15 ตัวอย่างตรงกับสายพันธุ์อินเดีย เป็นชาย 7 คน หญิง 8 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี เป็นคนงานในแคมป์ก่อสร้าง 12 คน ผู้สัมผัสร่วมบ้าน 3 คน ทั้งหมดมีอาการเล็กน้อย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ได้เป็นแรงงานผิดกฎหมายแต่อย่างใด

“สายพันธุ์อินเดียมีการระบาดมากในหลายประเทศ ทั้งอินเดีย อังกฤษ มาเลเซีย รวมทั้งเคยพบในสนามบินซางฮี ประเทศสิงคโปร์ ส่วนเมียนมาและกัมพูชาการตรวจสายพันธุ์ยังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด เชื่อว่า อาจมีสายพันธุ์อินเดีย ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีโอกาสที่จะพบสายพันธุ์อินเดียหลุดรอดเข้ามา โดยมาจากทางไหนต้องอาศัยการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสทั้งตัวที่พบในไทยเปรียบเทียบกับเชื้อของประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมกับใช้หลักระบาดวิทยาในการสอบสวนโรค ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ต้องรอข้อมูลทั้งสองส่วนประกอบกัน” นายแพทย์โอภาส กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขประเทศอังกฤษ พบว่า การแพร่เชื้อ ความรุนแรงของสายพันธุ์อินเดียไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ ไม่ส่งผลต่อผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากอังกฤษมีการระบาดของทั้งสองสายพันธุ์ เมื่อฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ครอบคลุมจำนวนมาก สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ส่วนมาตรการควบคุมโรคสายพันธุ์อินเดียไม่แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์อื่นๆ คือ มาตรการป้องกันส่วนบุคคล ทั้งสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ มาตรการด้านสาธารณสุข เมื่อพบผู้ป่วยต้องแยกกัก นำเข้าสู่การรักษาโดยใช้เวลารักษา 14 วันเหมือนกัน ให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง นำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำเข้าสู่การตรวจ และมาตรการทางสังคม มีการควบคุมการเข้าออก เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายน้อยที่สุด 

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 รัฐบาลมอบให้กระทรวงสาธารณสุข จัดหาวัคซีนฉีดให้แก่ประชาชนด้วยความสมัครใจไม่คิดมูลค่า เพื่อป้องกันควบคุมโรคและลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต โดยวัคซีนหลักของประเทศไทย คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่จะทยอยส่งมอบจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป ร่วมกับวัคซีนอื่นที่จะจัดหามาเพิ่มเติม โดยล่าสุด ศบค.ชุดใหญ่ได้เห็นชอบแผนการกระจายวัคซีนแล้ว แต่จากการระบาดของโรคโควิด-19 รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งรัดจัดหาวัคซีนล่วงหน้าก่อนแผนหลักเพื่อมาควบคุมการแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2564 กระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ 2.6 ล้านโดส สามารถฉีดได้ 2.5 ล้านโดส แสดงถึงศักยภาพการฉีดของประเทศไทย แม้จะดูว่าตัวเลขการฉีดน้อยในเวลานี้ แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนตามแผนหลักคาดว่าจะฉีดวัคซีนได้เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

ส่วนที่มีการสอบถามว่าภาคเอกชนนำวัคซีนเข้ามาได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 ขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉินจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว 4 ราย คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโมเดอร์นา ยังมีอีกหลายรายที่รอขึ้นทะเบียน เช่น ไฟเซอร์ เป็นต้น ดังนั้น ภาคเอกชนต่างๆ สามารถจัดหาวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้วเข้ามาในประเทศไทยได้ แต่ที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องการขายให้ภาครัฐโดยตรง ถือเป็นสิทธิของผู้ขาย คณะกรรมการด้านวัคซีนทางเลือกจึงมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนในการเจรจานำวัคซีนเข้ามา จะเห็นว่าไม่เคยมีการปิดกั้นการนำวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนแล้วเข้ามาในประเทศไทย

“จากการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายราย ส่วนใหญ่จะส่งมอบวัคซีนให้ได้ในไตรมาสที่ 4 หรือประมาณเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งมีข่าวดีว่าหลายบริษัทจะเริ่มมีการนำวัคซีนจากแหล่งอื่นๆ มาให้ประเทศไทย อาจได้วัคซีนเข้ามาอีกหลายตัว หากมีความชัดเจนจะรายงานความคืบหน้าต่อไป และย้ำว่า การจัดซื้อวัคซีนมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เพื่อความโปร่งใสเสมอ” นายแพทย์โอภาส กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น