xs
xsm
sm
md
lg

เรียนที่ไหนก็ได้ เรียนเมื่อไหร่ก็ได้!/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



และแล้วกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ได้ประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ออกไปเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 หลังจากที่ก่อนหน้านี้คนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองต่างลุ้นกันสุดฤทธิ์ว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน เพราะดูเหมือนสถานการณ์โควิด19 ยังหนักหน่วง

โดยมีหมายเหตุให้พิจารณาตามพื้นที่เสี่ยงด้วย

โรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดหรือพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ห้ามใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก จึงเปิดเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ หากต้องการเปิดสอนก่อน สามารถจัดการเรียนได้ในรูปแบบการสอนออนไลน์ และออนแอร์เท่านั้น โดยต้องขออนุญาตจาก ศบค.จังหวัดด้วย

สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดง มี 17 จังหวัด ให้ใช้อาคารสถานที่ฯ เปิดเรียนได้ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนที่เหลือ 56 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมหรือพื้นที่สีส้ม เปิดเรียนได้ตามมาตรการ ศบค.

ทั้งนี้ถึงแม้โรงเรียนจะเปิดไม่พร้อมกัน แต่ต้องปิดเทอมพร้อมกันในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เพื่อไม่ให้กระทบกับปฏิทินการสอบต่าง ๆ

งานนี้มีทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองที่สมหวังอยากให้เลื่อนเพราะห่วงความปลอดภัยของลูก และพ่อแม่ผู้ปกครองที่ผิดหวังอยากให้เปิดเทอมสักที เพราะกลัวลูกจะเสียโอกาสในการเรียนรู้

ก็สุดแท้แต่ว่าใครจะวางแผนชีวิตอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ ในสถานการณ์โควิด 19 ไม่มีใครคาดการณ์ได้จริง ๆ ว่าสุดท้ายมันจะไปจบลงที่ใด เพราะมันเป็นสถานการณ์ที่นอกเหนือการควบคุม และมีเหตุปัจจัยมากมายที่ส่งผลกระทบไปถ้วนหน้า

ที่จริงเรื่องการเลื่อนเปิดเทอมก็เป็นสถานการณ์เดียวกับทั่วโลก หลายประเทศต้องเลื่อนการเรียนการสอนไม่ต่างจากบ้านเรา และเมื่อเกิดการระบาดรอบใหม่ก็มีการเลื่อนอีกเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะต้องเผชิญสถานการณ์การเลื่อนเปิดปิดโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไปอีกพักใหญ่ตามแต่สถานการณ์ของโควิด 19 จนกว่าการฉีดวัคซีนของผู้คนจะกระจายตัวไปทั่วจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของแต่ละประเทศได้

ล่าสุด ประเทศที่มีความพร้อมและสามารถรับมือได้ดีกับสถานการณ์โควิด 19 ในฝั่งเอเชียก็คือ สิงคโปร์ โดยกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ กำลังวางแผนที่จะฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนที่อายุต่ำกว่า 16 ปี
ในขณะที่ประเทศจีน ที่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด 19 ได้อยู่ในเกณฑ์ดี เด็กนักเรียนได้ไปโรงเรียน แต่ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 และมีการเรียนออนไลน์คู่ขนานไปด้วยเช่นกัน

วิธีการของกระทรวงศึกษาธิการของประเทศจีน เน้นให้มีการจัดทำรูปแบบแพลตฟอร์มการศึกษาเสมือนจริง โดยใช้แพลตฟอร์มส่งข้อมูลรายละเอียดเนื้อหาการศึกษาไปยังโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ของนักเรียนที่อยู่ที่บ้าน โดยบรรจุเนื้อหาการศึกษาลงไปบนเว็บไซต์ Educloud ประกอบไปด้วยสื่อการเรียนการสอน อาทิ วิดีโอ เนื้อหาเรียนการสอน และเครือข่ายสำหรับครูทั่วโลกที่ใช้ในการสอนนักเรียน โดยครูที่ใช้เว็บไซต์ Educloud จะสามารถบรรจุเนื้อหา หลักสูตร และสั่งการบ้านต่าง ๆ ส่งไปยังแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์ของนักเรียนได้

แต่ที่น่าสนใจก็คือ แนวทางการศึกษาได้ลดเวลาการสอนออนไลน์ลง และให้การบ้านที่เหมาะสม เพราะมีผลจากการวิจัยระบุว่า การที่เด็กนักเรียนใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานานนั้นจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้น กรมการศึกษาจังหวัดกวนตงของประเทศจีน จึงได้ออกมาตรการให้การเรียนการสอนในแต่ละคอร์สนั้นจะต้องไม่เกิน 20 นาที และต้องรับฟังความเห็นจากนักเรียนอย่างรอบด้านด้วย โดยเน้นเนื้อหาของการบ้านนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่มีความผูกพันกับทั้งครอบครัวและสังคมรอบตัวของนักเรียน

ส่วนในบ้านเราล่าสุดก็ผุดแอพพลิเคชั่น “ครูพร้อม” และแนวปฏิบัติเพื่อให้สอดรับกับการเรียนการสอนออนไลน์ โดยแบ่งเป็นระยะ และมีวิธีการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ

On Site คือการเรียนที่โรงเรียน ซึ่งจะใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ไม่มีการระบาดของโรค
Online คือการเรียนผ่านระบบออนไลน์
On Air คือการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)
On Demand คือการเรียนผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ
On Hand เป็นการจัดใบงานหรือแบบฝึกหัดเป็นชุดให้นักเรียนนำไปเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยมีครูคอยติดตามผลเป็นระยะ

สรุปก็คือ แต่ละประเทศก็พยายามหาแนวทางปฏิบัติของตัวเอง ประสบความสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ใช้ได้บ้าง ใช้ไม่ได้บ้าง ก็ปรับตัวตามสถานการณ์นั้น ๆ เพราะมีเงื่อนไขและตัวแปรอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้การเรียนการสอนของเด็กยุคนี้ไม่สามารถเป็นไปในแบบปกติได้ ต้องแปรเปลี่ยนตามสถานการณ์ และวิสัยทัศน์ของคนเป็นผู้นำ !

ใจจริงก็เป็นห่วงเด็กยุคนี้ที่ต้องเป็น “นักเรียนยุคโควิด” ยุคที่การเรียนรู้ไม่สามารถดำเนินได้ตามปกติ แต่ถ้าลองพลิกมุมมองอาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้ ที่เด็กยุคนี้ไม่ต้องเดินตามแนวทางการเรียนการสอนแบบเดิม แบบที่ยังมีข้อกังขามาตลอดว่าถึงคราวปฏิรูปการศึกษาได้แล้วสักที

ถือโอกาสในช่วงวิกฤตนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเรียนรู้ สร้างการรับรู้ให้เด็กและเยาวชนมองการเรียนรู้อยู่ทุกหนทุกแห่ง “เรียนที่ไหนก็ได้ เรียนเมื่อไหร่ก็ได้” นั่นแหละ

ที่สำคัญรู้ว่าเรียนไปเพื่อเป้าหมายอะไร !


กำลังโหลดความคิดเห็น