xs
xsm
sm
md
lg

สสส.หนุนภาคีเครือข่าย ส่งผักอินทรีย์ให้ชุมชนแออัด เยียวยาผลกระทบโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. หนุนภาคีเครือข่ายด้านอาหาร สวนผักคนเมือง ส่งผักอินทรีย์ให้กลุ่มเปราะบาง ชุมชนแออัด เยียวยาผลกระทบโควิด-19 แก้ปัญหาระยะยาวส่งเสริมปลูกผักอินทรีย์/ปลอดสาร สร้างอาหารพึ่งพาตนเอง ขณะที่ผลวิจัยโดย IHPP ย้ำชัดคนจนเมือง 85.4% ประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร เพราะเงินไม่พอ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมกับ แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ศึกษาผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการทางสังคมต่อความมั่นคงทางอาหารของผู้ที่มีรายได้น้อยในชุมชนแออัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีกลุ่มตัวอย่างผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัด จำนวน 900 คน จาก 9 ชุมชน ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.4 ประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร โดยสาเหตุมาจากอาหารไม่พอรับประทานเพราะมีเงินไม่พอมากที่สุดร้อยละ 53.7 รองลงมาร้อยละ 37.2 เกิดจากอาหารมีราคาแพงขึ้น และร้อยละ 35.7 มีความยากลำบากในการออกไปซื้ออาหาร

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัดส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยและไม่มีพื้นที่หรือทรัพยากรในการผลิตอาหารเอง รวมถึงไม่มีแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้ ส่งผลให้ร้อยละ 8.9 ต้องพึ่งอาหารแจกฟรีเป็นหลัก และร้อยละ 21.9 ต้องลดการกินอาหารลงอย่างน้อย 1 มื้อ จึงเห็นได้ชัดว่าเมื่อมีวิกฤต จําเป็นต้องมีมาตรการบรรเทาทุกข์ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัดในเมือง ซึ่ง สสส. ได้สนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายด้านอาหาร เร่งจัดส่งผักอินทรีย์ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง และผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่การระบาดรอบแรกจนกระทั่งรอบล่าสุดในพื้นที่ชุมชนแออัด รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงอาหารด้วยการสร้างพื้นที่อาหารให้กับชุมชนที่มีความเปราะบางในเมือง อาทิ โครงการ แปลง.ปลูก.ปัน สวนผักคนเมือง เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงอาหารด้วยการสร้างพื้นที่อาหาร โดยมีการนำร่องใน 30 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 11 ชุมชน ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 19 ชุมชน ซึ่งช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพิงตนเองในยามวิกฤตได้

วรางคนางค์ นิ้มหัตถา ผู้จัดการโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)


ด้านนางสาววรางคนางค์ นิ้มหัตถา ผู้จัดการโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า “กลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต” เริ่มโครงการเมื่อปี 2563 โดยมีแผนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางกลางเมืองใหญ่ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในการระบาดระลอกใหม่ ได้เริ่มระดมอาหาร อาทิ ข้าวสาร ผักผลไม้ และไข่ ส่งมอบให้กับชุมชนเปราะบาง จำนวนกว่า 10 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนคลองเตย ชุมชนเคหะร่มเกล้า กลุ่มแรงงานนอกระบบร่มเกล้า ชุมชนบ้านเอื้ออาทรรังสิต คลอง 1 ชุมชนนางเลิ้ง ชุมชนตรอกเฟื่องทอง-ตรอกวิสูตร ชุมชนบางบอน ชุมชนบ้านเอื้ออาทรพระราม 2 ชุมชนหมู่ 13 คลองหก ปทุมธานี และกลุ่มออมทรัพย์สัจจะชุมชนไทยเกรียง โดยเป็นการรวบรวม รับซื้อผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นเกษตรอินทรีย์/ปลอดสารที่ได้รับผลกระทบระบายผลผลิตไม่ได้ อาทิ สุพรรณบุรี อ่างทอง นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี เชียงใหม่ และสุรินทร์ มากระจายยังพื้นที่เปราะบางในราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ ราคาไม่แพง และเครือข่ายเกษตรกรยังร่วมบริจาคเพิ่มให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย เช่น ขายไข่ไก่ 100 แผงก็จะให้เพิ่มอีก 50 แผง เป็นต้น

“รอบนี้ที่ชุมชนคลองเตย มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งกลุ่มที่ต้องกักตัวที่บ้าน และกลุ่มตกงานไม่มีรายได้ ทางกลุ่มฯ จึงได้ประสานงานผ่านเครือข่ายคลองเตยดีจัง ที่ทำงานในพื้นที่ เพื่อสำรวจปริมาณความต้องการอาหาร และได้นำอาหารสดมีคุณภาพสร้างสุขภาวะ เช่น ข้าวสาร ผักผลไม้ และไข่ไก่ แจกจ่ายให้กับชุมชนในรูปแบบจัดทำครัวกลางของชุมชน และจัดเป็นชุดยังชีพ สำหรับครอบครัวที่สามารถปรุงอาหารที่บ้านได้ โดยรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรมาส่งทุกวันศุกร์” นางสาววรางคนางค์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น