เสมา 1 วางกลยุทธ์กระทรวงศึกษาธิการ รับมือเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 วันที่ 1 มิ.ย.ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ระลอกสาม เน้นทำงานร่วมกัน นักเรียนทุกคนต้องไม่พลาดโอกาสการเรียนรู้ ควบคู่ความปลอดภัย เปิดเว็บครูพร้อม ศธ. เป็นแหล่งเรียนรู้กลาง นำร่อง 11 วันก่อนเปิดเทอม สนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเองบนพื้นฐานความสมัครใจ
วันนี้ (11 พ.ค.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศธ.ได้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาในสังกัด เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกสามยังมีความรุนแรงนั้น เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ ผู้ปกครองมั่นใจในความปลอดภัยของบุตร หลาน ศธ. จึงได้เตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษา โดยได้วางแผนการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 17-31 พ.ค. ก่อนเปิดภาคเรียน 11 วันทำการ จะเป็นการเตรียมความพร้อมของทั้งครูและนักเรียน โดยมีการจัดกิจกรรมเสริมความรู้การจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ถึงทักษะชีวิตที่จำเป็นจากเหตุการณ์ร่วมสมัย จัดการเรียนรู้ของจริง ประสบการณ์จริง เพื่อทำให้การเรียนรู้ ของเด็กไทยต่อเนื่องไม่หยุดชะงักลง ซึ่ง ศธ.จะจัดทีมพี่เลี้ยงเพื่อให้คำปรึกษาแก่ครูในการจัดกิจกรรมตามแนวทางดังกล่าว โดยอาจเริ่มจากประเด็นการเรียนรู้ในเรื่องสถานการณ์โควิดเป็นลำดับแรก
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับระยะที่สอง ตั้งแต่การเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 วันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป จะเป็นการจัดการเรียนรู้ 5 รูปแบบ คือ On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค. , On-air เรียนผ่าน DLTV, On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ, On-line เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต , On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน และในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ เช่น วิทยุ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นการเรียนที่โรงเรียน หรือ On-site
“การจัดการศึกษาภายใต้วิกฤตโควิด -19 ทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ. ภาคเอกชน และผู้ปกครองจะทำงานร่วมกัน โดยการจัดกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมครูและนักเรียน จะมีทั้งแบบ On-line เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต และแบบ Off-line เรียนที่บ้าน โรงเรียน หรือชุมชน เพื่อเป็นทางเลือกให้แต่ละโรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยเป็นกิจกรรมที่นักเรียนและผู้ปกครองสมัครใจ ไม่มีการให้คะแนนผ่าน/ไม่ผ่าน การจัดกิจกรรมต่างๆ ต้องปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งดิฉันขอเน้นย้ำว่า นักเรียนทุกคนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า การจัดกิจกรรมแบบ On-line นั้น ขณะนี้ ศธ.เตรียมจัดทำ Web Portal ขึ้นมาใหม่ เพื่อเสริมแพลตฟอร์มต่างๆ ที่หน่วยงานในสังกัด ศธ.มีอยู่ โดยจะเป็นคลังสื่อ ข้อมูลการเรียนรู้ ตลอดจนรูปแบบการจัดกิจกรรม ซึ่งมีข้อมูลทั้งของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แบ่งเป็นหัวข้อ-หมวดหมู่ตามความสนใจ เป็นการบูรณาการเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนทุกกลุ่ม ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง สามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบกลาง ส่วนกิจกรรมรูปแบบ Off-line นั้น สถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมร่วมกับ ศบค. จังหวัด ซึ่งคิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ร่วมสมัย และที่สำคัญคือ ทุกคนสามารถเลือกหัวข้อหรือกิจกรรมที่ต้องการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
ในส่วนของการอบรมพัฒนาสมรรถนะครูนั้น แต่ละหน่วยงานในสังกัดได้เตรียมจัดหลักสูตรอบรมให้เหมาะสม เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เน้นเรื่องการพัฒนาครู โดยครู เพื่อคุณครู ภายใต้โครงการ OBEC 2021 WEBINAR การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ยุคปกติใหม่ : มุมมองของผู้บริหาร นักวิชาการ และครู" ระหว่างวันที่ 17-21 พ.ค.2564 ทาง OBEC CHANNEL ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สพฐ. ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มชุมชนคุณครู ของ สพฐ. ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญที่มารวมตัวกัน เพื่อช่วยพัฒนา แบ่งปันประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีให้แก่คุณครูด้วยกัน ในการใช้เครื่องมือดิจิทัลร่วมกับศาสตร์การสอนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการชั้นเรียน เกิดประโยชน์สูงสุดในการเรียนรู้ของผู้เรียน บนพื้นฐานความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ และการเป็นพลเมืองดิจิทัล นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 17-31 พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะดำเนินการอบรมพัฒนาครู โดยเน้นเรื่องการพัฒนาสมรรถนะครู ด้วยเนื้อหาที่ทันสมัย ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ มาช่วยสนับสนุนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียนได้นำไปประกอบอาชีพ
นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ จากคุณครูที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดเป็นชุมชนออนไลน์เพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง ผ่านช่องทางที่เชื่อมต่อสู่เว็บไซต์ “ครูพร้อม” เพื่อให้ครูที่พร้อมแล้ว ได้มาช่วยเหลือ แบ่งปัน เพื่อนครูด้วยกัน
ทั้งนี้ ศธ.ได้ถอดบทเรียนการจัดการศึกษาในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ผ่านมามีการทบทวนและต่อยอดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 รูปแบบ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ และได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการวางระบบติดตามประเมินผล และรายงานผลการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19โดยจะต้องไม่เป็นภาระกับสถานศึกษา และการที่โรงเรียนจะใช้รูปแบบใดในการจัดการเรียนการสอนต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความมั่นใจ รับประกันได้ว่า เมื่อเปิดเทอมแล้วเด็กทุกคนของเรา จะได้เรียนอย่างมีคุณภาพ ครบตามที่หลักสูตรกำหนด