xs
xsm
sm
md
lg

สายด่วน สปสช.1330 ย้ำหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด-19 ภายใน 24 ชม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช.เผยสายด่วน 1330 จัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิดแล้วกว่า 2,600 ราย เผยต้องหาเตียงให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมงและลดจำนวนผู้ป่วยที่ค้างอยู่ในระบบให้เร็วที่สุด ย้ำคนไทยกลุ่มเสี่ยงตรวจฟรี รักษาฟรีไม่ว่าจะไปโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน

วันนี้ (5 พ.ค.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการดำเนินงานของสายด่วน 1330 ในการประสานจัดหาเตียงแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ว่า บทบาทของ 1330 คือการสนับสนุนสายด่วนของกรมการแพทย์และศูนย์เอราวัณ กทม. เนื่องจากการระบาดครั้งนี้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอยู่ใน กทม. ทำให้บางครั้งโรงพยาบาลที่รับตรวจหาเชื้อเตียงเต็ม ไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่มได้ ก็สามารถโทรมาที่สายด่วน 1330 เพื่อให้ประสานจัดหาเตียงให้ ซึ่งที่ผ่านมาสายด่วน 1330 สามารถช่วยประสานหาเตียงให้ผู้ป่วยได้ประมาณวันละ 100 ราย ยอดรวมนับตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2564 เป็นต้นมากว่า 2,600 ราย

"ตอนนี้เราขยายคู่สายเพิ่มจาก 300 คู่สายเป็น 600 คู่สาย มีอัตราสายหลุดประมาณ 1% แต่ตั้งเป้าลดลงให้เหลือ 0% รวมทั้งปรับกระบวนการทำงานโดยจะแบ่งเจ้าหน้าที่เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่รับสายจากผู้ป่วย ซักประวัติ สอบถามอาการเบื้องต้น จากนั้นจะมีอีกกลุ่มโทรกลับไปประสานเพื่อคัดกรองว่าผู้ป่วยเป็นเป็นกลุ่มอาการระดับสีอะไร จากนั้นจะมีอีกกลุ่มที่คอยประสานจัดหาเตียงให้ ซึ่งการจัดระบบลักษณะนี้ทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดหาเตียงนั้น สปสช.จะพยายามจัดหาให้ผู้ป่วยเข้ารับการดูแลในโรงพยาบาลให้ได้แบบวันต่อวัน หรือภายใน 24 ชั่วโมง เช่น ถ้าได้รับแจ้งมาช่วงหัวค่ำหรือกลางคืน ก็จะนัดแนะให้ผู้ป่วยเตรียมตัวแล้วประสานส่งรถไปรับตัวที่บ้านตั้งแต่เช้าเพื่อให้ถึงโรงพยาบาลก่อน 9.00 น. รวมทั้งยังมีการส่งตัวในระหว่างวันด้วย

"การขอเตียงจะประสานกับกรมการแพทย์ รวมทั้งโทรประสานโดยตรงกับโรงพยาบาลเอกชน ความยุ่งยากก็คืออยู่ๆ จะบอกว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อแล้วเอาเข้าโรงพยาบาลเลยไม่ได้ มันต้องเอาผลตรวจมาแสดงก่อน และแต่ละโรงพยาบาลมีความต้องการเอกสารยืนยันผลการตรวจไม่เหมือนกัน หรือมีความเข้มงวดในการพิจารณารับหรือไม่รับตัวต่างกัน บางครั้งผู้ป่วยก็บอกแค่ว่าตัวเองติดเชื้อแต่ไม่มีเอกสารผลตรวจอะไรเลย ทีมจัดหาเตียงก็ต้องไปค้นข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ต้องประสานงานกันเยอะ ทำให้ช้านิดหน่อย ต้องใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงต่อราย เพื่อให้ได้ตามข้อกำหนดของแต่ละโรงพยาบาล แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นกลุ่มที่มีอาการระดับสีเขียวก็จะจัดหาเตียงได้เร็ว แต่ถ้ากลุ่มที่อาการเปลี่ยนระดับจากสีเขียวมาเป็นสีเหลือง หรือสีเหลืองมาเป็นสีแดงก็จะนานหน่อย เพราะต้องจัดระบบส่งต่อและเตรียมให้ได้รับการรักษาดีที่สุด" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ป่วยที่ให้สายด่วน 1330 ประสานหาเตียงให้ ต้องขอความร่วมมือว่าอาจจะเลือกสถานที่ไม่ได้ อาจจะไม่ได้อยู่ใกล้บ้าน หรืออยากได้ห้องพิเศษหรืออาหารพิเศษก็อาจจะไม่ได้ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่ปกติ เตียงในโรงพยาบาลก็มีความตึงตัว ดังนั้นขอให้แพทย์ผู้พิจารณาจัดการต่างๆให้ตามความเหมาะสม ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนด้วยว่าขอให้รักษาความเข้มข้นในการปฏิบัติตามมาตรการใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และถ้าไม่จำเป็นขอให้อยู่บ้าน มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้จำนวนผู้ป่วยไม่เพิ่มขึ้นเร็วจนโรงพยาบาลรับไม่ไหว

"ในส่วนของ สปสช.เอง เรามีบทบาทในการสนับสนุนงบประมาณ ไม่ทำให้เรื่องค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ อย่างเรื่องค่าตรวจคัดกรองของคนไทยทั้งประเทศ สปสช.ก็สนับสนุน ดังนั้นคนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถไปตรวจได้ทั้งที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าบริการ และถ้าตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อก็จะได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน ไม่ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel โดยเฉพาะผู้ที่รักษาในโรงพยาบาลเอกชน ขอย้ำว่าอัตราค่ารักษาต่างๆ สปสช. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และโรงพยาบาลเอกชนได้ตกลงกันตั้งแต่ปีก่อนแล้ว แต่อาจจะมีปัญหาที่หน้างานที่เข้าใจไม่ตรงกันหรืออาจร้องเรียนว่า สปสช.จ่ายเงินช้า จึงมีการเรียกเก็บจากผู้ป่วยเอาไว้ก่อน" นพ.จเด็จ กล่าว

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ สปสช.ได้ปรับระบบการจ่ายเงินให้เร็วขึ้นจากทุก 1 เดือน เป็นทุก 2 สัปดาห์ รวมทั้งมีสายด่วนให้โรงพยาบาลโทรมาปรึกษาเรื่องการเบิกรายการต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนมีสภาพคล่องที่ดีและไม่เกิดการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น