เราเชื่อกันมาตลอดว่าอิสรภาพจะทำให้เรามีความสุข ซึ่งมันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น พวกเราล้วนมั่นใจว่าหากมีอิสรภาพไม่ว่าจะในเรื่องใดก็ตาม ยิ่งมีมาก ความสุขก็ควรจะมีมากตามมา
แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะอิสรภาพหากมีมากจนไม่มีขีดจำกัด สุดท้ายมันทำให้เราไม่มีความสุขเลย นั่นคือหลักการ Paradox of choices ที่นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ทำการทดลองมานานหลายสิบปี สังเกตการณ์ และวัดผลออกมาพบว่า ยิ่งทางเลือกมาก ความสับสนก็มีมากตามมา สุดท้ายคนที่มีทางเลือกมาก โอกาสที่จะได้ของดีกลับน้อยลง เพราะประสิทธภาพในการเลือกจะลดลงเรื่อยๆ ตามความเหนื่อยล้า และความสับสนในการตัดสินใจ ที่มีจากตัวเลือกมากมายที่เข้ามา
คนที่เกิดมาโชคดีที่สุดคือคนที่มีโอกาสเลือก (ภายใต้ขีดจำกัด) นั่นคือ หลักการ Anything is possible. แต่ไม่ใช่อยากทำอะไรก็ได้ ทำได้หมด นั่นคือหลักการ "Everything is possible." ดังนั้นครอบครัวที่ตามใจลูก ลุกเป็นผู้ตัดสินใจทุกอย่างอย่างอิสระ มีผลเสียมาก เพราะทำให้ลูกต้องพบกันทางเลือกที่มหาศาล ทำให้เกิดความีรู้สึกถูกทอดทิ้งโดยไม่รู้ตัว สุดท้ายก็เลือกสิ่งที่ไม่ควรเลือก หรือเหนื่อยที่จะเลือก เลยเลือกสิ่งที่ไม่ต้องคิดมาก เมื่อพ่อแม่ถามว่า จะเรียนวิทย์ หรือศิลป์ ถ้าเรียนวิทย์ มีข้อดี ข้อเสีย แบบนี้ ศิลป์มีข้อดีข้อเสีย แบบนี้ ถ้าไปเรียนวิชาชีพ ก็มีข้อดี ข้อเสียอีกแบบ หรือจะไปเรียนเมืองนอก ก็จะเสี่ยงกับอีกแบบ เมื่อเสนอทางเลือกมากมาย โอกาสที่ลูกจะตอบว่า "หนูไม่รู้" มีสูงมาก
ทางที่ดีก่อนให้ลุกเลือกทางเดินของเค้า พ่อแม่ควรสังเกต ศึกษาพฤติกรรม ธรรมชาติของลูกให้ดีก่อน จากนั้นหาข้อมูล สรุปสุดท้ายเป็นทางเลือกสองทาง แล้วถามลูกจะเอาแบบไหน ถ้าเค้าไม่เอาเลย เราค่อยศึกษาหาตัวเลือกอีกสองทาง เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เค้าเองจะเริ่มได้คิด และศึกษาตัวเองเช่นเดียวกัน
การชี้ทางสว่างที่ช่วยให้คิดได้ดีขึ้นคือการลดตัวเลือก หากเราซื้อกางเกงเพราะร้านนั้นมีขายลายเดียว เราเลือกมาเราใส่ไม่พอดี เราก็โทษกางเกง โทษหุ่นของเราว่ามันไม่พอดี พยายามลดหุ่นเพื่อนใส่ให้ได้ แต่ถ้าร้านนั้นมีกางเกงให้เลือก 50 ลาย ซื้อมาแต่ใส่ไม่พอดี เราก็อดไม่ได้ที่จะโทษตัวเองว่าทำไมโง่แบบนี้ เลือกไม่เข้าท่าเลย น่าจะเลือกตัวอื่น
ยิ่งตัวเลือกเยอะ โอกาสเลือกผิดยิ่งสูง ข้อเสียของการมีตัวเลือกเยอะคือ ความเหนื่อยในการเลือก เสียเวลา และเกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง กลัวเลือกพลาด ความคาดหวังก็สูงตามตัวเลือก ยิ่งความคาดหวังสูง ความสุขก็น้อยลง ดังนั้นท่ามกลางตัวเลือกมากๆ แม้จะได้ของดีมา เราก็รู้สึกเหนื่อยและรู้สึกว่าสิ่งนั้นยังไม่ดีพออยู่ดี แม้ตัวเลือกนั้นจะดีจริง ๆ ก็ตาม
Barry Swartz นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เคยกล่าวไว้ว่า ตัวเลือกที่มากขึ้นมากับความสับสน และเหนื่อยล้า ร้านค้าที่ขายของที่หลากหลาย เช่น นักวิจัยเคยทำการทดลองร้านขายแยม 6 รสชาติ กับ 24 รสชาติ ผลออกมาว่ายอดขายของร้านที่เสนอเพียง 6 รสชาติ ขายได้ดีกว่า ยอดขายดีขึ้น 10% เมื่อลดทางเลือกสินค้าลง
แต่ชีวิตคนเราสำคัญมากกว่าการซื้อขายสินค้ามาก แต่ละช่วงชีวิตหรือแม้แต่แต่ละวัน เราต้องพบเจอกับการตัดสินใจเลือก เราล้วนต้องการสิ่งที่ดีให้กับตัวเรา แต่หลายครั้งสิ่งที่เราเลือกกลับไม่ได้ตามที่คาดหวัง และเรารู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่สาเหตุมาจากตัวเลือก แต่สาเหตุมาจากวิธีการเลือก เราใส่ตัวเลือกมากมายในชีวิต ทั้ง ๆ ที่บางทีเราอาจเจอตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้ว
เราเดินเข้าร้านมือถือ วนไปวนมา โดยไม่ซื้อสักที ทั้งๆที่เราก็มีเป้าหมายในใจแล้วว่าเราอยากได้มือถือขอแค่โทรออก รับสายได้ แต่เมื่อเราเดินเข้าไปในร้านที่มีมือถือรุ่นใหม่ ฟังชั่นใหม่ ลายใหม่ โปรโมชันใหม่ ไป ๆ มา ๆ เรากลับอยากจะเปลี่ยนรุ่น
ผู้หญิงหรือผู้ชายหลายคน คบกันมานานพอสมควรแล้ว แต่ก็ไม่เลือกที่จะตกลงปลงใจกันสักที เพราะคิดว่าตัวเลือกยังมีอีกมากมาย เรายังมีโอกาสได้พบคนดี ๆ อีกมาก
ชีวิตของคนเราเช่นกัน หากเราตั้งความคาดหวังที่สูง ใส่ตัวเลือกเข้าไปมากขึ้นๆ ผลสุดท้าย เรากลับไม่มีความสุข ทางออกคือการลดมาตรฐานความคาดหวังในชีวิตให้อยู่ในระดับที่เพียงพอ และยอมรับว่าสิ่งที่ดีมีในโลก แต่สิ่งที่ดีที่สุดในโลกนั้นไม่มีจริง
เรามักมองว่าปลาทองในตู้ปลา มันช่างน่าสงสารที่ไม่ได้ออกไปว่ายในโลกกว้างที่มีหลายอย่างให้เลือก แต่เราอาจไม่รู้ว่า ปลาทองในตู้นั้นมันมีความสุขแล้ว กับโลกเล็ก ๆ ที่ปลอดภัยของมัน อิสรภาพมีได้แต่ไม่ใช่มีทุกอย่าง วันใดที่เราทุบตู้ปลาทองแล้วให้มันแหวกว่ายตามมีตามเกิด เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าวันนั้นในทางเลือกชีวิตที่ไม่มีขีดจำกัดมันสร้างความสุขที่มากขึ้น
มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่าง ไม่ต้องสมบูรณ์แบบแต่เราก็มีความสุขมากได้
We are not perfect, but our life is beautiful.
ครูฮ้วง
-----------------
ครูฮ้วง-เสาวลักษณ์ ลี้รุ่งเรืองพร เจ้าของสถาบัน Campus Genius Center ผู้สอนหลักสูตรติวเข้มเพื่อการสอบ SAT ด้วยแนวคิดแบบ Critical Thinking ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถยื่นคะแนนเข้าเรียน และประสบความสำเร็จในการเรียนคณะอินเตอร์ทั้งในและต่างประเทศ