xs
xsm
sm
md
lg

กทม.รุกตรวจคัดกรองโควิด-19 เตรียมเร่งฉีดวัคซีนสกัด “คลัสเตอร์คลองเตย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (3 พ.ค.) พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังมีอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยวันนี้ (3 พ.ค. 64) มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ตามประกาศของ ศบค. 675 ราย ซึ่งในการระบาดระลอกใหม่วันที่ 1 เม.ย.- 3 พ.ค. 64 กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยสะสม 13,958 ราย รวมทั้งยังมีแผนการดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ บริเวณที่มีการเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนคลองเตย ซึ่งลักษณะทั่วไปของชุมชนในเขตคลองเตยที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นชุมชนแออัด มีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น ที่พักอาศัยมีทั้งที่เป็นอาคารที่พักหลายชั้น และเป็นบ้านเรือนที่ติดๆ กัน มีการใช้พื้นที่บางส่วนร่วมกัน การระบายอากาศไม่ดี ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว

ทั้งนี้ จากผลการเฝ้าระวังเชิงรุกโควิด-19 (Active Surveillance) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 5 เม.ย.- 2 พ.ค. 64 มีผู้เข้ารับการตรวจ จำนวน 36,095 คน พบผู้ติดเชื้อ จำนวน 1,509 คน (4.18%) และอยู่ระหว่างรอผล จำนวน 18 คน ในส่วนพื้นที่ชุมชนแออัดเขตคลองเตย กทม. ได้ดำเนินค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก โดยนำรถพระราชทานเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเข้าเก็บตัวอย่างกลุ่มเสี่ยง ในวันที่ 27 เม.ย. 64 เก็บตัวอย่างที่ชุมชน 70 ไร่ จำนวน 436 ราย พบผู้ติดเชื้อ 21 ราย (4.81%) เก็บตัวอย่างที่ชุมชนริมคลองวัดสะพาน จำนวน 489 ราย พบผู้ติดเชื้อ 29 ราย (5.93%) และวันที่ 30 เม.ย. 64 เก็บตัวอย่างที่ชุมชนพัฒนาใหม่จำนวน 411 ราย พบผู้ติดเชื้อ 49 ราย (11.92%) รวมเฝ้าระวังเชิงรุกโควิด-19 ทั้งสิ้น 1,336 ราย พบผู้ติดเชื้อ 99 ราย คิดเป็น 7.41 % ทั้งนี้สรุปข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่เขตคลองเตย ในการระบาดระลอกใหม่ เดือน เม.ย. 64 จำนวนทั้งสิ้น 304 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นแหล่งชุมชนแออัด จำนวน 193 ราย และผู้พักอาศัยในสถานที่อื่นๆ เช่น คอนโด หอพัก จำนวน 111 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายแรกที่พบในแหล่งชุมชนแออัดในเขตคลองเตย มีอาชีพเป็นพนักงานสถานบันเทิงย่านทองหล่อที่พบผู้ติดเชื้อและมีการแพร่กระจายเชื้อในวงกว้าง
 
ทั้งนี้ กทม. ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่วัดสะพาน เพื่อแยกผู้ติดเชื้อและดูแลเบื้องต้น ระหว่างรอนำส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล Hospitel หรือ รพ.สนาม ตามระดับความรุนแรงของอาการ และยังได้ดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยส่วนหนึ่งไปยังจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากมีความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ และมีเจ้าหน้าที่ทหารดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มข้น
 
นอกจากนี้ กทม. จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนเขตคลองเตย ซึ่งข้อมูลตามทะเบียนประมาณกว่า 80,000 คน ตั้งแต่วันที่ 4-19 พ.ค. 64 ณ บริเวณโรงเรียนวัดคลองเตย และโลตัส พระราม 4 โดยคาดว่าวันแรก (4 พ.ค. 64) จะสามารถฉีดวัคซีนได้ประมาณ 1,000 คน เนื่องจากเริ่มฉีดวัคซีนในช่วงบ่าย และวันที่ 5 พ.ค. เป็นต้นไปนั้น จะให้บริการฉีดวัคซีนทั้งในช่วงเช้าและบ่าย คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ประมาณ 2,500 - 3,000 คน/วัน

อนึ่ง นอกจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชนเขตคลองเตยแล้ว กทม. ยังดำเนินการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่เขตปทุมวัน ที่ชุมชนเคหะบ่อนไก่ และชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ 59 ราย โดยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมในแขวงลุมพินีและปทุมวัน จำนวน 142 ราย












กำลังโหลดความคิดเห็น