รมช.แรงงานเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทยเพื่อโอกาสได้เข้าทำงานในบริษัทด้านเทคโนโลยีของประเทศจีน โดยผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับองค์กรชั้นนำของจีน
วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลจีนมีนโยบายที่ต้องการแรงงานต่างชาติที่มีทักษะและมีความถนัดในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ ตามแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ 5 ปี เพื่อให้กลายเป็นประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จีนจึงมีความต้องการแรงงานทักษะสูง เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ชีววิทยาศาสตร์ การบินและอวกาศ การสำรวจใต้ทะเลลึก เป็นต้น โดยจีนได้กำหนดมาตรการที่หลากหลาย เช่น ออกใบอนุญาตทำงานแบบพิเศษ พัฒนาระบบการให้สิทธิพำนักอาศัยถาวร ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการเข้าพำนักอาศัยในประเทศจีน อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าทำงานองค์กรด้านเทคโนโลยีระดับชาติ รวมถึงสำรวจความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโครงการรับแรงงานต่างชาติทักษะสูงเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดความสนใจแรงงานทักษะสูงให้เข้าไปทำงาน ร่วมขับเคลื่อนวิจัยและพัฒนา และทำงานแลกเปลี่ยนวิจัยในประเทศจีน
รมช.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้มีความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำของประเทศจีนหลายองค์กร ยกตัวอย่างเช่น บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำด้านบริการโซลูชันไอซีทีระดับโลก มีความมุ่งมั่นที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านไอซีที โดยการพัฒนาความรู้ ทักษะ ความสามารถให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะบุคลากรด้านไอซีทีที่มีทักษะสูง เช่น ระบบ Cloud Computing, Big Data, Internet of Thing, AI, 5G เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับบริษัท ซิโนเปค อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม เซอร์วิส คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมชั้นนำของโลก โดยได้บูรณาการความร่วมมือเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีการเชื่อมอัตโนมัติ เป็นการยกระดับทักษะฝีมือให้แก่แรงงานไทย รองรับงานด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ซึ่ง กพร. มีความพร้อมที่จะพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้นและตรงกับความต้องการของตลาด โดยจะทำให้สามารถรองรับตลาดแรงงานในประเทศไทย รวมถึงส่งออกแรงงานไทยสู่การทำงานในแถบเอเชียและภูมิภาคอื่น มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน
“ในฐานะที่กำกับดูแล กพร.จะเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะที่ตอบโจทย์ และประสานข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงาน เพื่อให้แรงงานไทยมั่นใจการมีงานทำและสวัสดิการที่ดี และสามารถไปทำงานที่ประเทศจีนได้ต่อไป” รมช.แรงงาน กล่าวทิ้งท้าย