หัวหน้าศูนย์ไวรัส รพ.จุฬาฯ เผยพลาสมาจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่ใช้รักษาผู้ป่วย แจงทุกสิ่งมีใช้ได้ผลและไม่ได้ผล ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เลือกให้เหมาะสม ก็จะเกิดประโยชน์ เผยผลการวิจัย ถ้าให้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแล้ว จะไม่ได้ผลเลย
วันนี้ (30 เม.ย.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ระบุว่า โควิด-19 การใช้พลาสมาจากผู้ป่วยที่หายโควิดแล้วมารักษาผู้ป่วย ทุกสิ่งมีใช้ได้ผล และไม่ได้ผล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ถ้าเลือกให้เหมาะสม ก็จะเกิดประโยชน์
ขณะนี้มีการกล่าวกันว่า อังกฤษเลิกขอบริจาคพลาสมาแล้ว เป็นความจริง เพราะทางอังกฤษมีวิธีการดูแลอย่างอื่นได้ดีกว่า ขณะนี้ควบคุมโรคได้ดีกว่าหลายประเทศในยุโรป แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังใช้กันอยู่ ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่น และคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้กับอันตรายที่เกิดขึ้น การใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยโควิด มีการศึกษาชัดเจน ถ้าให้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแล้ว จะไม่ได้ผล ตามเอกสารลงพิมม์ในวารสารอันดับหนึ่งของโลก New England Journal Medicine ในวันที่ 24 ธันวาคม 2563
ต่อมาในวันที่ 6 มกราคม 2564 วารสารนี้ได้รายงานอีกว่า ถ้าให้เร็วในกลุ่มเสี่ยงสูง ผู้สูงอายุ มีประโยชน์ ไม่ให้การดำเนินโรคไปในทางเลวร้าย ต่อมาก็มีการศึกษามาสนับสนุนอีกในวันที่ 13 มกราคม 2564 ในวารสารเดียวกัน ถ้าให้พลาสมาที่มีภูมิต้านทานสูงจะลดอัตราเสียชีวิตได้ ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จึงคัดกรองผู้ที่จะมาบริจาคต้องมีภูมิต้านทานสูง เพื่อประโยชน์สูงสุด และผู้ป่วยที่รับ ก็จะต้องให้เร็ว โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงสูง ที่มีภาวะปอดบวม เริ่มเหนื่อยและเริ่มมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ
ทุกสิ่งถ้ารู้จักใช้ ในเวลาที่เหมาะสม จะเกิดประโยชน์อย่างแน่นอน
พร้อมแฮชแท็ก #หมอยง
โควิด-19
การใช้พลาสมาจากผู้ป่วยที่หายโควิดแล้วมารักษาผู้ป่วย ทุกสิ่งมีใช้ได้ผล และไม่ได้ผล...Posted by Yong Poovorawan on Friday, April 30, 2021