กระทรวงสาธารณสุข เผย ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเมษายน พบผู้ติดเชื้อสะสม 36,290 ราย เฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล พบ 16,045 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.2 เข้มการคัดกรองเชิงรุก ในชุมชน ตรวจจับการระบาดของโรค ขอกลุ่มเสี่ยงสูงสัมผัสผู้ติดเชื้ออย่าปกปิดข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการรักษาและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
วันนี้ (30 เม.ย.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,583 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 1,366 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 213 ราย จากต่างประเทศ 4 ราย รักษาหายเพิ่ม 860 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 28,696 ราย อาการหนัก 871 ราย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 250 ราย แม้ในวันนี้จำนวนผู้ป่วยจะไม่สูงเท่ากับหลายวันที่ผ่านมา แต่ยังพบผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก และเสียชีวิตในอัตราที่สูง
สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้จำนวน 15 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 6 ราย อายุระหว่าง 29-93 ปี อยู่ใน กทม. 9 ราย ชลบุรี พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครปฐม ราชบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 1 ราย ปัจจัยเสี่ยงทำให้อาการรุนแรงจนเสียชีวิต คือ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดสมอง ภาวะอ้วน โรคปอดเรื้อรัง ไตเรื้อรัง และติดบ้านติดเตียง ส่วนสาเหตุการติดเชื้อมาจากมีผู้ติดเชื้อมาเยี่ยมรับประทานอาหารกับผู้ติดเชื้อ พนักงานร้านคาราโอเกะ ร่วมสัมมนากับผู้ติดเชื้อ และสัมผัสผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ติดเชื้อ ดังนั้น ต้องเข้มงวดมาตรการควบคุมป้องกันโรคในสถานที่เสี่ยง ลดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนอย่างต่อเนื่อง และเร่งรัดกำกับติดตามมาตรการ DMHTTA ทั้งส่วนบุคคล และสถานที่
“ขณะนี้สถานการณ์ในจังหวัดส่วนใหญ่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ภายใต้มาตรการควบคุมที่กำหนด แต่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน พบถึง 16,045 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.2 ของการติดเชื้อทั้งประเทศที่มีจำนวน 36,290 ราย ได้เร่งรัดเฝ้าระวังคัดกรองเชิงรุกในชุมชน เพื่อตรวจจับการระบาดของโรค ขอให้ประชาชนร่วมมือป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ อย่าปกปิดข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการรักษาและควบคุมการแพร่ระบาดโรค” นายแพทย์เฉวตสรร กล่าว
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้ฉีดสะสมแล้ว 1,411,614 โดส แบ่งเป็นรับวัคซีนเข็มแรก 1,075,756 ราย และครบ 2 เข็ม 335,858 ราย โดยในวันที่ 29 เมษายน 2564 มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 66,968 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 16,035 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 50,933 ราย