xs
xsm
sm
md
lg

หน้ากากอนามัย - จิตสำนึกที่ต้องใช้กฎหมาย/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภายหลังการบังคับใช้ ประกาศกรุงเทพมหานคร ปิดสถานที่ต่าง ๆ ชั่วคราว 31 พื้นที่ เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่ 26 เมษายน – 9 พฤษภาคม 2564 และขอให้ประชาชนทุกคนใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากเคหสถาน หรืออยู่ในที่สาธารณะ ชุมชน 100 % ตลอดเวลา กรณีประชาชนไม่ใส่หน้ากากอนามัยจะมีบทลงโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท โดยล่าสุดมีการอัพเดทรายชื่อเพิ่มเติม 48 จังหวัด จากศูนย์โควิดกระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.)


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังคงสร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้คนอย่างมาก และทำให้ผู้คนต้องติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวการระบาดของโควิด19 กลับมาสร้างความหวั่นใจอีกครากับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แตะหลักพันรายวัน ล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อ 2,179 คน (27 เมษายน 2564)

การระบาดรอบใหม่ในลักษณะเช่นนี้ถือเป็นระดับที่ควบคุมได้ยาก เพราะไม่สามารถจะหาจุดเชื่อมโยงแหล่งที่มาหรือไทม์ไลน์ได้ชัดเจนแล้ว เชื้อโรคมีการแพร่กระจายได้มากและเร็ว

นั่นหมายความว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องหาทางร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงให้เร็วที่สุด

และเป็นที่มาของนโยบายภาครัฐล่าสุดที่ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด หลังจากที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากประชาชน และรณรงค์ให้ผู้คนมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม

แต่ดูเหมือนท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตและเป็นปัญหาร่วมกันของประเทศ ยิ่งต้องการให้ผู้คนมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมมากเท่าไหร่ ก็ยังคงเห็นปัญหาเรื่องการขาดจิตสำนึกจากกลุ่มคนในหลายระดับ และกลายเป็นปัญหาบานปลายอีกต่างหาก

สิ่งที่ควรทำและรณรงค์มาตั้งแต่เกิดการระบาดเมื่อปีที่แล้ว

หนึ่ง – งดไปสถานที่เสี่ยง


งดไปสถานที่เสี่ยงทุกประเภท ความจริงเรื่องนี้แทบไม่ต้องรอให้เป็นมาตราห้ามใด ๆ สถานการณ์ที่ผ่านมาก็ไม่ควรไปสถานที่สุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว เป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อตัวเอง ที่จะไม่พาตัวเองไปในสถานที่เสี่ยง เพราะเราอาจคิดว่าไม่เป็นไรหรอก เรายังแข็งแรง ก็แล้วถ้าเราไม่เป็นอะไร แต่ถ้าเรากลายเป็นพาหะแล้วนำมาติดผู้คนในครอบครัว หรือถ้ามีพ่อแม่หรือผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้าน แล้วเรานำพาเชื้อโรคมาติดท่านล่ะ ซึ่งจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็พบว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้จริง

สอง – ป้องกันตัวเอง


การให้ความสำคัญในการป้องกันดูแลตัวเองและครอบครัวอย่างจริงจัง การล้างมือบ่อย ๆ พกเจลแอลกอฮอล์เป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนต้องระมัดระวัง และสอนวิธีปฏิบัติให้กับลูกหลานของเราด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมไปถึงการสวมหน้ากากอนามัยด้วย

สาม – เรียนรู้จากสถานการณ์จริง


นำสภาพการณ์จริงมาพูดคุยกับลูกถึงวิกฤตการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจตั้งคำถามว่าเขารู้สึกอย่างไร มีความคิดเห็นอย่างไร และถ้าเรื่องนั้นเกิดขึ้นกับเขา หรือคนในครอบครัวจะทำอย่างไร เป็นการตรวจวิธีสอบวิธีคิดของลูก และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน รวมไปถึงผลกระทบที่มาถึงครอบครัวด้วย

สี่ – ให้ความร่วมมือกับมาตรการต่าง ๆ


มาตรการต่าง ๆ จะสำเร็จได้ ผู้คนต้องให้ความร่วมมือ ถ้าทุกคนคิดถึงแต่ตัวเอง เอาตัวเองสะดวก ไม่คิดถึงส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่เข้มงวดหรือไม่ก็ตาม แต่ด้วยสถานการณ์อย่างนี้ต้องมีความจริงจังและจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนร่วม

เพราะเรื่องจิตสำนึกมิควรต้องใช้กฎหมายเป็นตัวกำกับจึงจะทำมิใช่หรือ !

จากกรณีเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยควรจะเป็นเรื่องที่ทุกคนใส่ใจ และเห็นความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของตัวเองมิใช่หรือ ไม่อยากให้เป็นเหมือนการรณรงค์ให้ใส่หมวกกันน็อค ผู้คนจะสวมหมวกกันน็อคเพราะกลัวถูกตำรวจจับมากกว่าจะห่วงความปลอดภัยของตัวเอง

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา เรายังต้องถามหาเรื่องจิตสำนึกกับผู้คนอยู่เสมอ

จิตสำนึก คือ จิตที่รับรู้จากประสบการณ์จริงขณะตื่น ผ่าน System ประสาทสัมผัสทั้ง 5 จิตสำนึกจะรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักใช้เหตุผล รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ อะไรดีไม่ดี
ส่วนจิตสำนึกจะดีหรือไม่ ก็ต้องมาจากจิตใต้สำนึกด้วย

จิตใต้สำนึก คือสิ่งที่สั่งสมอยู่ในจิตมานาน จิตใต้สำนึกมีพลังอำนาจเหนือจิตสำนึกหลายเท่า เป็นแหล่งเก็บข้อมูลความทรงจำและประสบการณ์ทุกด้านที่ได้เห็น ได้ยิน ได้พูด ได้ทำบันทึกไว้ในจิตใต้สำนึก

เพราะฉะนั้น ถ้าตอนเราเป็นเด็กมีจิตใต้สำนึกที่ดี มีความทรงจำและประสบการณ์ที่ดี ก็จะหล่อหลอมให้เขาเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกที่ดี
การปลูกฝังจิตใต้สำนึกให้เด็กเป็นเด็กดีมีองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ ความรัก ความประพฤติปฏิบัติ คำพูด สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้นแบบ หรือแบบอย่าง

การเป็นแบบอย่างที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นมาก จิตใต้สำนึกของลูกจะเปิดกว้างขณะอยู่กับพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่คิดดี ทำดี ลูกก็จะคิดดี ทำดีตาม การปลูกฝังจิตใต้สำนึกที่ได้ผล จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นจากพฤติกรรมและคำพูดของพ่อแม่ให้ลูกได้เห็นและได้ยินอย่างสม่ำเสมอถึงจะได้ผล รวมไปถึงความประพฤติก็ต้องสอดคล้องกับการพูดด้วย

แต่แม้ในระดับครอบครัวจะพยายามส่งเสริมและปลูกฝังแบบอย่างที่ดี คำถามที่ตามมาคือ แล้วรูปแบบที่เด็กและเยาวชนเห็นผู้ใหญ่ที่ขาดจิตสำนึกอยู่ทุกวี่วันผ่านสื่ออยู่นี่ล่ะ จะส่งผลกระทบอย่างไร !

ดูเหมือนเด็กและเยาวชนยุคนี้จะหาต้นแบบที่ดีในสังคมยากขึ้นทุกขณะ
กำลังโหลดความคิดเห็น