นพ.ยง ไขคำตอบโควิด-19 มีโอกาสติดซ้ำได้ แต่ก็น้อยกว่าคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน เผยภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ มีประสิทธิภาพร้อยละ 84 ถือว่าเหนือกว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติแล้ว ระบุ แม้ฉีดวัคซีนช่วยป้องกันได้ไม่ถึง 100% ย้ำจำเป็นต้องมีการให้ซ้ำ ต้องมีการกระตุ้น น่าจะเป็นหลัง 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันในระยะยาว
วันนี้ (18 เม.ย.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ว่า ระบุข้อความ โควิด-19 ผู้ที่ติดเชื้อมาแล้ว ติดเชื้อซ้ำได้หรือไม่ ต้องฉีดวัคซีนอีกหรือไม่ จากการติดตามในประเทศอังกฤษในบุคลากรทางการแพทย์เปรียบเทียบกลุ่มที่ติดเชื้อมาแล้ว กับ ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนเป็นระยะเวลา 7 เดือน
พบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อมากแล้วโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำใหม่น้อยกว่าผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ร้อยละ 84 จากข้อมูลก็เปรียบเสมือนว่า คนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว มีประสิทธิภาพ ป้องกันการติดเชื้อได้ ร้อยละ 84 (Hall VJ et al, Lancet 2021; 397: 1459-69) น่าจะพูดง่ายๆ ให้เข้าใจว่า ถ้าการติดเชื้อจริงเป็นวัคซีน หรือเอาไวรัสจริงมาเป็นวัคซีนทำให้เกิดโรค ยังป้องกันได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ได้มีประสิทธิภาพร้อยละ 84
วัคซีนถ้าสร้างภูมิต้านทานให้ได้เท่ากับการติดเชื้อจริงในธรรมชาติ จะป้องกันได้ร้อยละ 84
การติดเชื้อซ้ำถึงแม้ว่า เคยติดเชื้อมาแล้ว ก็เกิดขึ้นได้ แต่ก็น้อยกว่าคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ในระยะยาว ถึงแม้ว่าติดเชื้อมาแล้ว ภูมิต้านทานไม่ได้ปกป้องแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนโรคบางโรค เช่น โรคหัด โรคสุกใส ที่เป็นแล้วจะไม่เป็นอีกในชีวิตนี้
จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า การที่เคยเป็นโรคแล้ว มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก ทำนองเดียวกัน การฉีดวัคซีนก็เหมือนกับการกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานแบบการติดเชื้อ วัคซีนจึงไม่สามารถป้องกันได้ 100% วัคซีนที่ป้องกันได้เกินกว่า 84% ก็ถือว่าเหนือกว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติแล้ว
ในอนาคตการให้วัคซีน จำเป็นต้องมีการให้ซ้ำอีกแน่นอน ในวัคซีนทุกชนิดจะต้องมีการกระตุ้น น่าจะเป็นหลัง 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันในระยะยาว หรืออาจจะต้องกระตุ้นทุกปีหรือทุก 2 3 ปี ก็คงขึ้นอยู่กับข้อมูล
ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่ติดเชื้อมาแล้วก็ยังคงต้องให้วัคซีนในการป้องกันโรค ระยะเวลาในการให้วัคซีนหลังติดเชื้อ ควรจะอยู่ในระยะ 3 ถึง 6 เดือน หลังจากติดเชื้อจำนวนครั้งในการให้วัคซีนในผู้ติดเชื้อมาแล้ว เป็นที่น่าสนใจ เพราะเชื่อว่าการกระตุ้นเพียงครั้งเดียวก็น่าจะเพียงพอ แต่ถ้าติดเชื้อมาแล้วเป็นปี การให้วัคซีนก็อาจจะต้องให้แบบคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน
เมื่อเป็นเช่นนี้จะเป็นโอกาสทองของบริษัทวัคซีนแน่นอน
พร้อมแฮชแท็ก #หมอยง