เมื่อเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยเวียนมาถึง ใครๆ ต่างคิดถึงการเล่นสาดน้ำ และงานรื่นเริง แต่ปีนี้ ปัญหาโควิดยังไม่คลี่คลาย จึงทำได้แค่กลับบ้าน พบปะกับครอบครัว คนรัก แต่กว่าจะถึงต้องฝ่าฟันการจราจรสุดโหดบนท้องถนน ทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเตรียมการรองรับเทศกาลสงกรานต์ 2564 “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด” ว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย แต่ก็ไม่ได้ห้ามการเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะเข้าใจจิตใจของคน ที่พลาดโอกาสกลับบ้านฉลองเทศกาลปีใหม่ ดังนั้นจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือกับการเดินทางของประชาชนที่อาจเพิ่มมากขึ้น จากเดิมปกติ เพราะอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิตมักเพิ่มเป็น 2 เท่า ในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยสาเหตุของอุบัติเหตุ มาจากพฤติกรรมการขับขี่ ทั้ง เมาแล้วขับ ขับขี่เร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย ส่วนสถานที่เกิดอุบัติเหตุก็มักพบในถนนสายรอง จึงได้มอบแต่ละจังหวัดวิเคราะห์ ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อหาสาเหตุ ชี้เป้าทำแผนแก้ไข วางแผนป้องกัน และ หากบาดเจ็บก็ส่งต่อรักษาให้รวดเร็ว
นพ.เกียรติภูมิ ยังกล่าวว่า ในการเสริมทัพสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนยังประสานอสม.ให้ช่วยเป็นหูเป็นตา กวดขันดูแลบุตรหลานในชุมชน ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามไม่ให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นสาเหตุการขับขี่โดยประมาท เกิดอุบัติเหตุ และให้จับตาการจำหน่ายสุราให้กับเด็ก การจำหน่ายในสถานที่ และ เวลาที่ห้ามจำหน่าย เพื่อป้องกันการดื่มแล้วขับ ที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุมากถึงร้อยละ 40 และให้ตั้งด่านชุมชน หรือหมู่บ้าน ช่วยตักเตือน ไม่ให้ขับขี่ออกไปถนนสายหลัก และยังเตรียมหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับไว้ 8,255 หน่วย. รถปฏิบัติการฉุกเฉิน 20,338 คัน และ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 164,795 คน กระจายตามเส้นทางถนนสายหลัก ที่มีจุดตรวจ หรือจุดบริการที่อยู่ห่างกันมาก. เพื่อดูแลรักษาส่งต่ออย่างรวดเร็ว โดย 72 ชม แรก ของการเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต จะเข้าเกณฑ์รักษาฟรีทุกสิทธิ์
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า มาตรการช่วงสงกรานต์ระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย.จะเน้นการ การอำนวยความสะดวกการจราจร ระดมตำรวจกว่า 8 หมื่นนาย ดูแล พร้อมเปิดเส้นทางจราจรเพิ่ม ช่วยระบายรถ ทั้งมอเตอร์เวย์ใหม่สายบางปะอิน-โคราช และอีก 17 เส้นทางเพื่อให้การจราจรคล่องตัว นอกจากนี้ ยังร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกรมการขนส่งทางบก จัดโครงการขับขี่ปลอดภัย มั่นใจไร้แอลกอฮอล์ คุมเข้มเมาแล้วขับ ดำเนินคดีทุกราย ตรวจวัดแอลกอฮอล์ทั้งผู้ขับที่มีสติและไม่มีสติ ดำเนินการเอาผิดไปถึงร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการจำหน่ายในเวลาที่ห้ามและสถานที่ห้ามรวมถึงบุคคลต้องห้าม โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด พร้อมตั้งจุดสกัดตรวจ 3,713 แห่งทั่วประเทศ และตั้งเป้าลดอัตราอุบัติเหตุให้ลดลง ร้อยละ 5 จากปี 2563
ส่วนฝ่ายสนับสนุน ในการตรวจปริมาณแอกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การตรวจหาวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ ในผู้ขับขี่ ที่ตามกฎหมายกำหนดห้ามเกิน. 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ นั้น สามารถทำได้ ทั้งใน ผู้ขับขี่ที่มีสติ และหมดสติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงาน และ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดละเลิก การจำหน่าย และ ดื่มใน สถานที่ราชการ ปั้มน้ำมัน ศาสนสถาน สวนสาธารณะ เพราะมีความผิดตามกฎหมาย และ ย้ำ ว่าในสถานการณ์โควิดนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ขาดสติ ขาดการระวังตนเอง อาจทำให้ละเลยการสวมหน้ากากอนามัย และระยะห่าง
ด้าน ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นี้ สสส. ได้รณรงค์ให้ขับขี่อย่างมีสติ ปลอดภัย โดยใช้เรื่องของพลังความคิดถึง ช่วยเตือนสติในการขับขี่ และใช้รถใช้ถนน เพื่อให้เดินทางถึงบ้านอย่างปลอดภัยทั้ง การดื่มไม่ขับ สวมหมวกกันน็อก และ ขับขี่ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชม. และยังร่วมกับตำรวจภูธรภาค 4 จัดอาสาสมัครจราจรหญิงกว่า 2,000 นาย ใน 12 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สกลนคร มุกดาหาร นครพนม บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู และเลย มาช่วยสนับสนุนดูแลร่วมกับตำรวจ พร้อมแนะประชาชนที่กำลังเตรียมตัวเดินทาง หากติดตั้งกล้องหน้ารถยนต์จะยิ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัย และยังมีผลใช้เป็นข้อมูลยืนยันเวลาเกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์. โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน พบปี 2563 เกิดเหตุ 1,307 ครั้ง. บาดเจ็บ 1,260 คน เสียชีวิต 167 คน และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถส่งผลให้ประสิทธิภาพในการขับรถลดลง โดยพบว่า หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุขึ้นเป็น 2 เท่า และ หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่า
โดยโทษ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ได้ระบุห้ามมิให้ขับขี่รถในขณะเมาสุรา หรือของมึนเมาอื่น ๆ และมีการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น กับ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550
-เมาแล้วขับ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสามารถสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบขับขี่
-เมาแล้วขับ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพมีโทษจำคุก 2-6 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและศาลสามารถสั่งพักใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบขับขี่
-เมาแล้วขับ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายมีโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และศาลสามารถสั่งเพิกถอนใบขับขี่ทุกแง่มุมของความปลอดภัย อาศัยภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับดูแลอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอ ต้องเสริมเพิ่มแรงจากตัว ผู้ขับขี่เอง ทั้งละเลิก เพิกเฉยแอลกอฮอล์ระหว่างขับขี่ เพื่อให้ครองสติขับรถอย่างปลอดภัย ถึงจุดหมายปลายทาง ที่มีบ้าน คนที่รักและคิดถึงรออยู่ ทำให้สงกรานต์ปีนี้อบอุ่น คุ้มค่ากับการเดินทาง