xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริโภคจะวางใจได้ไหม? เมื่อพลาสติก rPET ถูกนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การปลดล็อกกฎหมายเพื่อการอนุญาตใช้พลาสติกรีไซเคิล (rPET) มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยเริ่มมีความคืบหน้าแล้ว ทันทีที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการว่าด้วยแนวทางการประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ด้านผู้ประกอบการพร้อมสนับสนุน แต่ต้องรอดูว่าสุดท้ายแล้วเกณฑ์ที่ออกมาจะจูงใจพอให้เกิดการใช้บรรจุภัณฑ์ rPET ในวงกว้างได้จริงหรือไม่ 


ไฟเขียวเร่งใช้ rPET สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

เป็นเรื่องที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การนำขยะขวดพลาสติก PET เช่น ขวดน้ำดื่ม และขวดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ กลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อทำเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (recycled PET หรือ rPET) และใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการนำไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ อาทิ เส้นใยสิ่งทอ เสื้อผ้า ผ้าม่าน พรม และอีกมากมาย รวมถึงนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดพลาสติกมากที่สุดก็สามารถทำได้และถือเป็นวิธีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า

แต่เรื่องที่หลายคนยังไม่ทราบ นั่นคือ การใช้ rPET มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มนั้น ในประเทศไทยไม่ได้รับการอนุญาตให้ทำได้ เพราะติดขัดข้อกฎหมายซึ่งเป็นประกาศของกระทรวงสาธารณสุขปี 2548 ที่กำหนดไว้ว่า“ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายกำลังร่วมกันหาทางปลดล็อกอย่างเร่งด่วนเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ประกาศให้ BCG โมเดลเป็นวาระแห่งชาติ (โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Biological) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green): BCG Model) เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจในประเทศไทยโดยมุ่งเน้นกิจกรรมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการปลดล็อกปัญหาดังกล่าวคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โดยในช่วงต้นปี 2562 ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการนำพลาสติกรีไซเคิลกลับมาผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดทำแนวทางการประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล (rPET) โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)


รองศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เนื่องจากเป็นความต้องการของภาคเอกชนที่ต้องการใช้ rPET มาผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ภาครัฐเปิดไฟเขียวแล้วในเชิงนโยบาย ทางอย.กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมทำงานรองรับนโยบายนี้และพยายามดำเนินการโดยเร็ว ขณะเดียวกันฝั่งผู้บริโภคก็ต้องมั่นใจด้วยว่า rPET ที่ถูกนำมาเป็นภาชนะบรรจุอาหารจะมีความปลอดภัย จึงเป็นที่มาของการทำโครงการวิจัยเพื่อเป็นการสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการรองรับการจะปรับประกาศใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขในการอนุญาตให้ใช้ rPETมาผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 


รายงานการวิจัยจากสถาบันโภชนาการว่าด้วยแนวทางและศักยภาพการประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหาร ใช้เวลาดำเนินการหนึ่งปี (2563-2564) ปัจจุบันเสร็จสิ้นโครงการแล้ว มีสาระสำคัญคือการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลในการกำจัดสารปนเปื้อนตกค้างจากวัตถุดิบ (ขยะขวดพลาสติก PET) เพื่อกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัยใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงของประเทศ ซึ่งโดยหลักการในทางพิษวิทยาสำหรับประเมินความเสี่ยงก็คือ การคำนวณหาอัตราสูงสุดของสารเคมีตกค้างที่สามารถยอมรับได้คือ อยู่ในระดับที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกายหากได้รับสัมผัสจากการบริโภคอาหารที่ถูกบรรจุในภาชนะบรรจุที่ทำจาก rPET โดยตัวเลขที่ได้นี้มาจากงานวิจัยเท่านั้น แต่การที่จะยอมรับและนำไปใช้ได้จริง ทางอย.จะต้องนำข้อมูลที่ได้เข้าสู่การพิจารณาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในคณะอนุกรรมการอีกครั้ง

 


ทั้งนี้ จากงานวิจัยที่ทำเสร็จไปแล้วนั้นพบว่า โมเดลของสหรัฐอเมริกาที่มุ่งไปที่การคุ้มครองผู้บริโภคน่าจะเหมาะกับไทย จากการลงพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์ผู้บริโภคโดยการสุ่มทั่วประเทศจำนวน 1,746 เคส พบว่าอาหารที่บรรจุในพลาสติก PET รูปแบบขวดได้แก่ ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำหวานน้ำอัดลมและอื่นๆ มีอัตราสูงสุดที่ผู้บริโภคสัมผัสในแต่ละวันเมื่อเทียบกับปริมาณอาหารที่บรรจุในพลาสติกชนิดอื่นๆ ““การวิจัยทำให้เราได้ค่าตัวเลขต่างๆ ที่สามารถนำมาคำนวณใช้เป็นค่าอ้างอิง คือค่าที่ยอมรับได้ว่าจะให้มีสารตกค้างใน rPET ได้สูงสุดในระดับใดที่หากมีการปนเปื้อนมายังอาหารที่บรรจุแล้วจะยังคงปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” รศ.ดร.ชนิพรรณ กล่าว 


คืบหน้าปลดล็อกประกาศสธ.


สถาบันโภชนาการได้สนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการให้กับ อย. ในเบื้องต้นแล้ว ในขั้นต่อไป ทาง อย.ต้องกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ เป็นคู่มือปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการยื่นขออนุญาตในการใช้ rPETผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร โดยหลักเกณฑ์สำคัญที่ได้มีการจัดสัมมนารับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย 1.ผู้ประกอบการต้องแจ้งที่มาของขยะพลาสติก PET ที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นก่อนนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เช่น มีการจัดเก็บคัดแยกและรับซื้อมาอย่างไร 2.แจ้งรายละเอียดของเทคโนโลยีในการรีไซเคิลที่ใช้ในโรงงาน ข้อมูลกระบวนการขั้นตอนต่างๆ การขจัดสารปนเปื้อนประเภทต่างๆ อยู่ในระดับใด โดยในเกณฑ์กำหนดนั้นจะมีกลุ่มของสารตัวแทนการปนเปื้อนที่ครอบคลุมชนิดสารแล้วนำมาทดสอบที่ผู้ประกอบการต้องทำตามขั้นตอนให้ได้ และ 3. ยื่นผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งตอนนี้ห้องปฏิบัติการทดสอบในประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นของการพัฒนาและเตรียมดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 


ผู้บริโภคมั่นใจความปลอดภัยใช้ rPET


ปัจจุบันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดพลาสติกมากที่สุด ยังคงต้องใช้เม็ดพลาสติกใหม่ในการผลิตสินค้าเพราะไม่สามารถหมุนเวียนใช้ rPETเป็นวัตถุดิบได้ ทุกวันนี้ ไทยมีการผลิตขวดพลาสติกออกสู่ตลาดในประเทศประมาณปีละ 300,000 ตันแปลว่าจะยังคงมีขยะขวดพลาสติกปริมาณมหาศาลทุกๆ ปี หากอย. สามารถดำเนินการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้เร็วมากเท่าไหร่ เท่ากับเร่งให้มีการลดปริมาณขยะขวดพลาสติก PET ได้มากเท่านั้นเพราะสามารถนำมารีไซเคิลได้ทั้งหมดแล้วผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ เป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและถ้าจะตอบคำถามประเด็นความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคว่าจะสามารถวางใจได้แค่ไหนหากภาคธุรกิจหันมาใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รศ.ดร.ชนิพรรณ กล่าวอย่างชัดเจนว่า อ้างอิงจากผลสำรวจ คะแนนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะขึ้นอยู่กับอย. ดังนั้น หากอย.มีการปรับประกาศกระทรวงสาธารณสุขใหม่อนุญาตให้ใช้ rPETผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ ผู้บริโภคก็วางใจในความปลอดภัยได้เช่นกัน


ผู้ผลิตพร้อมหนุนหากเกณฑ์เหมาะสม


ด้านบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตพลาสติก PET รายใหญ่ของโลก ได้ออกมาสนับสนุนให้มีการใช้ rPET ในบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารในประเทศไทย เนื่องจากเป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกได้อนุญาตมานานแล้วและจะช่วยให้เกิดการรีไซเคิลสูงขึ้นตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี 

นายริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโส บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกที่ทำงานร่วมกับบริษัทเครื่องดื่มทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เราเข้าใจข้อกังวลที่ อย. มีต่อการปนเปื้อนและความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หาก อย.ไทยจะกำหนดเกณฑ์และมาตรฐานขึ้นเอง มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ให้เกณฑ์เหล่านี้จะต้องมีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติด้วยเนื่องจากอาจก่อให้เกิดความท้าทายทางธุรกิจของผู้ประกอบการในเรื่องต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลที่เพิ่มสูงขึ้นมาก และอาจไม่จูงใจพอให้มีการนำ rPET มาใช้ในวงกว้าง รวมทั้งการลงทุนของบริษัทรีไซเคิลในอนาคต ซึ่งก็จะไม่ช่วยตอบสนองเรื่องการส่งเสริมการรีไซเคิลตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้แต่แรก

นอกจากนี้ ปัญหาขยะในประเทศจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและการรีไซเคิลเป็นแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจนที่สุด ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในอาเซียนล้วนอนุญาตให้ใช้ rPET สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ ซึ่งช่วยเร่งผลักดันให้การขจัดปัญหาขยะพลาสติกเป็นไปอย่างปลอดภัยและถูกสุขลักษณะยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น