xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ชื่นชม รพ.บางกรวยพัฒนาศูนย์ผลิตกายอุปกรณ์เพิ่มคุณภาพชีวิตคนพิการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช.ชื่นชมโรงพยาบาลบางกรวย พัฒนาศูนย์ผลิตกายอุปกรณ์ให้บริการขาเทียมเพิ่มคุณภาพชีวิตคนพิการ เผย 3 ปีผลิตขาเทียมไปแล้วกว่า 200 ขา แนะเชื่อมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดขยายขอบเขตงานฟื้นฟูสมรรถภาพมากยิ่งขึ้น



วันนี้ (8 เม.ย.) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อม ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่โรงพยาบาลบางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมชมศูนย์ผลิตกายอุปกรณ์เพิ่มคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมี นพ.วิชัย รัตนภัณฑ์พาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางกรวย และ พญ.เพ็ญแข โกไสยสุวรรณ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ให้การต้อนรับ

พญ.เพ็ญแข กล่าวถึงพัฒนาการของศูนย์ผลิตกายอุปกรณ์เพิ่มคุณภาพชีวิตคนพิการว่า งานเวชกรรมฟื้นฟูมี 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.กายภาพบำบัด ซึ่งที่โรงพยาบาลบางกรวยมีอยู่แล้ว 2.งานกายอุปกรณ์ และ 3.งานกิจกรรมบำบัด ซึ่งในช่วงที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ ภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือการดูแลกายอุปกรณ์ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาที่เท้า การตัดรองเท้าเพื่อป้องกันการเกิดแผล ตัดรองเท้าสำหรับผู้ป่วยที่มีแผล จากนั้นค่อยๆ ขยายบริการให้ครบวงจรมากขึ้น

"คนไข้ผู้พิการจะมีปัญหาเรื่องสถานที่บริการด้านความพิการค่อนข้างน้อย ระยะเวลารอคอยขาเทียมค่อนข้างนาน เราจึงทำเรื่องนี้เพื่อให้คนพิการได้เข้าถึงบริการด้านกายอุปกรณ์มากขึ้น เกิดความรวดเร็วในการรับอุปกรณ์ภายใน 1-3 สัปดาห์ อีกทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระหน่วยบริการอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย" พญ.เพ็ญแข กล่าว

พญ.เพ็ญแข กล่าวอีกว่า สำหรับศูนย์ผลิตกายอุปกรณ์เพิ่มคุณภาพชีวิตคนพิการของโรงพยาบาลบางกรวยเน้นการผลิตขาเทียมแบบครบวงจร โดยคนไข้สามารถทำการนัดหมายได้ก่อน ระหว่างนั้นโรงพยาบาลจะตรวจสอบสิทธิให้ จากนั้นเข้ามาพบแพทย์ตามวันนัดเพื่อประเมินความพิการว่าพร้อมใส่ขาเทียมหรือไม่ ถ้ายังไม่พร้อม เช่น แผลยังไม่แห้ง ตอขาบวม หรือข้อเข่าติด ก็จะแก้ปัญหานั้นๆก่อนจะส่งทำขาเทียม

"เรามีทีมงาน 2 ทีมทำงานร่วมกัน คือทีมกายอุปกรณ์ มีนักกายอุปกรณ์ทำขาเทียมให้ ระหว่างกระบวนการรอทำขาเทียมก็จะส่งไปพบนักกายภาพบำบัดเพื่อประเมินและเตรียมพร้อมกำลังกล้ามเนื้อของตอขาก่อนใส่ขาเทียม จากนั้นนักกายอุปกรณ์นัดคนไข้มาทดลองใส่ขาเทียมและทำการปรับแต่ง การฝึกใช้ขาเทียมแล้วรับอุปกรณ์ ทั้งนี้นอกจากขาเทียมแล้วเรายังให้บริการเครื่องช่วยความพิการอื่นๆ อีกด้วย" พญ.เพ็ญแข กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เฉพาะผู้ป่วยสิทธิบัตรทองมีผู้ทำขาเทียมแล้วประมาณ 200 ขา ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นสิทธิประกันสังคม

ด้าน นพ.วิชัย กล่าวว่า โรงพยาบาลบางกรวยเป็นโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ เนื้อที่ 2 ไร่ แต่มีเป้าหมายต้องการเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีคุณภาพของ จ.นนทบุรี ซึ่งก็ต้องมีแพทย์เฉพาะทางในหลายๆ สาขามาให้บริการ และเมื่อได้แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูมาร่วมงานจึงเปิดโอกาสให้ พญ.เพ็ญแข พัฒนาบริการตามที่ตั้งใจ โดยแม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องกรอบอัตรากำลังที่โรงพยาบาลไม่สามารถมีนักกายอุปกรณ์ได้ แต่ก็เปิดช่องโดยใช้วิธีจ้างเหมาบริการ ให้เอกชนมาเป็นคู่ค้าร่วมงานกัน รวมทั้งได้ สปสช.เป็นผู้สนับสนุนในด้านงบประมาณ จึงทำให้มาถึงจุดนี้ได้

ขณะที่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การสนับสนุนของ สปสช. มี 2 เรื่องที่สำคัญ 1.การสนับสนุนองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) ทำเรื่องศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ ศูนย์กายอุปกรณ์ ต่างๆ ครอบคลุมผู้พิการ ผู้สูงอายุ 2.การสนับสนุนให้เกิดคลินิกกายภาพบำบัด เพราะในอนาคตสังคมไทยจะเป็นสังคมสูงอายุและวิชาชีพกายภาพบำบัดจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งในพื้นที่ จ.นนทบุรี เองก็มีประชากรมากจึงอยากเสนอให้โรงพยาบาลบางกรวยขยายงานไปยังทั้ง 2 พื้นที่นี้เพื่อให้เกิดผลกระทบมากกว่าการให้บริการในโรงพยาบาลอย่างเดียว






กำลังโหลดความคิดเห็น