xs
xsm
sm
md
lg

“นฤมล” บุกเรือนจำหญิงธนบุรี สานฝันผู้ต้องขังสู่ช่างมืออาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมช.แรงงาน เยียมชมการฝึกอบรมอาชีพผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงธนบุรี พร้อมตรวจเยี่มการทดสอบฝีมือแรงงานช่างปูกระเบื้อง หนุนฝึกอบรมเพิ่มอีกหลายสาขาเพื่อให้มีรายได้หลังพ้นโทษ หรือประกอบอาชีพอิสระรับเหมางานด้วยตัวเอง

วันนี้(25 มี.ค.) ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ช่างปูกระเบื้อง มีผู้ต้องขังหญิงเข้ารับการทดสอบทั้งหมด 29 คน ดำเนินการทดสอบโดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนนทบุรี ณ ทัณฑสถานหญิงธนบุรี โดยมีคุณกุสุมาลย์ นาคพรหม ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงธนบุรี นำเยี่ยมชมห้องฝึกอบรมหลักสูตรนวดสปาและพื้นที่ภายในเขตกักกันผู้ต้องขังหญิง เช่น ศูนย์ฝึกอาชีพ ศูนย์การศึกษา และศูนย์ให้บริการด้านการพยาบาล เป็นต้น


ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า ผู้ที่ถูกคุมประพฤติและผู้ต้องขัง เป็นแรงงานอีกกลุ่มที่รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภายใต้การกำกับดูแลกระทรวงแรงงานของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม มอบหมายให้ช่วยดูแลโดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมหลังพ้นโทษ เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ การเพิ่มทักษะ ความรู้ด้านอาชีพ จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยให้แรงงานกลุ่มนี้ มีความรู้และทักษะติดตัว นำไปต่อยอดเพื่อประกอบอาชีพอิสระได้ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มีหน่วยงานอยู่ทุกจังหวัด ประสานความร่วมมือกับเรือนจำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฝึกอบรมด้านอาชีพให้แก่ผู้ถูกคุมประพฤติและผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง

รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า ในวันนี้ เป็นการตรวจเยี่ยมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ช่างปูกระเบื้อง ดำเนินการทดสอบโดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนนทบุรี มีผู้ต้องขังหญิงเข้ารับการทดสอบทั้งหมด 29 คน และมีแผนฝึกอบรมให้แก่ผู้ต้องขังอีกประมาณ 80 คน ในสาขาช่างปูกระเบื้อง ช่างทำมุ้งลวดประตู-หน้าต่างอะลูมิเนียมและนวดไทยเพื่อสุขภาพ จะเห็นได้ว่าทักษะด้านช่าง ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชายเสมอไป ปัจจุบัน ช่างฝีมือหลายสาขาอาชีพเป็นผู้หญิง เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างปูกระเบื้อง ช่างก่ออิฐ-ฉาบปูน เป็นต้น การพัฒนาตนเองให้เป็นช่างฝีมือ จะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น หากรับค่าแรงรายวัน ค่าแรงจะสูงกว่าแรงงานทั่วไป หรือบางงานสามารถรับเหมาได้ด้วย ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปทำงานแบบมีนายจ้างเสมอไป


นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2564 ดำเนินการฝึกแล้วทั่วประเทศรวม 2,367 คน เป็นชาย 2,039 คน และเป็นหญิง 328 คน สาขาที่ดำเนินการฝึก เช่น ช่างปูกระเบื้อง ช่างก่ออิฐ-ฉาบปูน ช่างบำรุงรักษาเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน การทำเครื่องเรือนโครงไม้จริง ภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน การทำขนม การประกอบอาหาร การแต่งผมสุภาพบุรุษ-สตรี การทำผ้ามัดย้อม การประกอบธุรกิจร้านกาแฟ เป็นต้น ส่วนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานนั้น ในสาขาอาชีพที่มีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน เมื่อดำเนินการฝึกอบรมเสร็จสิ้น จะทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้ด้วย เพื่อวัดระดับทักษะว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้หรือไม่ ถ้าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จะได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อการันตรีฝีมือ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ว่าจ้างหรือผู้รับบริการ


การฝึกอบรมและการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกับเรือนจำชายและทัณฑสถานหญิง เป็นสาขาอาชีพที่ได้สำรวจความต้องการ รวมถึงพิจารณาร่วมกันแล้วว่า สามารถสร้างอาชีพและรายได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น ช่างปูกระเบื้อง ส่วนใหญ่จะเป็นงานรับเหมา ค่าแรงทั่วไปในการปูกระเบื้องพื้นที่ 50 -100 ตารางเมตร อยู่ที่ 160 บาท/ตารางเมตร ค่าแรงในการปูกระเบื้องพื้นที่ 300-500 ตารางเมตร อยู่ที่ 110 บาท/ตารางเมตร ถ้า 1 คนสามารถปูกระเบื้องได้ 5 ตารางเมตรต่อวัน จะมีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 550 บาท เป็นต้น

“ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ซึ่งกระทรวงแรงงานพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะด้านการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อสามารถนำไปต่อยอดการประกอบอาชีพในอนาคต รวมไปถึงการจัดหาตำแหน่งงานหรืออาชีพอิสระ เพื่อให้มีงานทำ สร้างรายได้ สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ต่อไป” รมช.แรงงานกล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น