xs
xsm
sm
md
lg

"อนุทิน" ยืนยันไม่ปิดกั้น พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันรัฐบาลไม่มีนโยบายปิดกั้นภาคเอกชนนำเข้าและใช้วัคซีนโควิด-19 ขณะนี้มีผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แล้ว 4 ราย ส่วนกรณีโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับอนุญาตนำเข้ายาอยู่แล้ว หากประสงค์จะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ให้มาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนอีกครั้ง เป็นหลักปฏิบัติสากล

วันนี้ (8 มี.ค.) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม เพื่อชี้แจงขั้นตอนการนำเข้า การขึ้นทะเบียน การกระจาย และการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แก่สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมและตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวก เปิดช่องทางพิเศษในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 สำหรับภาคเอกชน โดยต้องมายื่นเป็นผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรก่อน และยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 จากนั้น อย.จะพิจารณาจากเอกสาร ด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล เพื่อให้สามารถอนุมัติทะเบียนโดยเร็วที่สุด

ในส่วนกรณีผู้ได้รับอนุญาตนำเข้ายาอยู่แล้ว เช่น โรงพยาบาลเอกชน หากประสงค์จะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ก็ต้องมาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล ปัจจุบันมีผู้มายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 กับ อย. แล้ว จำนวน 4 ราย ได้แก่ โควิด-19 วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้ง 2 ราย และอีก 2 ราย ได้แก่ วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด และวัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด อยู่ระหว่างการยื่นเอกสาร

“กระทรวงสาธารณสุขยินดีและขอบคุณภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมดูแลสุขภาพประชาชน พร้อมอำนวยความสะดวกและสนับสนุนเต็มที่ เป็นการแบ่งเบาภาระรัฐบาล ช่วยให้การกระจายวัคซีนทั่วถึง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีโอกาสไปดูแลประชาชนในส่วนที่จำเป็น ” นายอนุทินกล่าว

สำหรับขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์วัคซีน-19 ในสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีนำเข้า ดำเนินการดังนี้ 1.ให้ยื่นคำขอใบอนุญาตสถานประกอบการด้านยา โดยต้องมีสำนักงาน มีสถานที่เก็บยา มีเภสัชกรประจำ 2.ยื่นคำขอหนังสือรับรองมาตรฐานสถานที่ผลิตยา ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ผ่านการประเมินวิชาการ ด้านคือ คุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิผล และแผนการจัดการความเสี่ยงของวัคซีน ผ่านที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้ ขั้นตอนตั้งแต่การประเมินวิชาการถึงการอนุมัติจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน

อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม ได้กล่าวยืนยันพร้อมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าไปได้
















กำลังโหลดความคิดเห็น