xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ฯ ตรวจพบเชื้อตั้งแต่วันแรกรับไว้ในสถานกักกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงสาธารณสุข เผย สถานการณ์โควิด-19 แนวโน้มคงตัว ส่วนตลาดพรพัฒน์ปทุมธานี ควบคุมโรคได้ดี ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 วัน กรณีผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์จากไนจีเรีย และ เคนยา ตรวจพบเชื้อในวันแรกที่เข้าประเทศไทย พร้อมย้ำเตือนข้อปฏิบัติก่อนฉีดและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ป้องกันอาการไม่พึงประสงค์

วันนี้ (5 มี.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยนายแพทย์เฉวตสรร กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด 19 ประเทศไทย รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2564) แนวโน้มคงตัว จำนวนผู้ติดเชื้อต่ำสุด 35 ราย และสูงสุด 80 ราย ในวันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 79 ราย จากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 22 ราย, คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 43 ราย, มาจากต่างประเทศเข้ากักตัวในสถานกักกัน/รักษาในโรงพยาบาล 12 ราย และเดินทางจากประเทศเมียนมา ผ่านช่องทางธรรมชาติ 2 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รักษาหาย 79 ราย ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสมในระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 - 5 มีนาคม 2564 จำนวน 22,004 ราย รักษาหายสะสม 21,464 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.55 เสียชีวิตสะสม 25 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 515 ราย

โดยผู้ติดเชื้อในประเทศวันนี้จำนวน 65 ราย พบใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และ ชลบุรี จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยเลย 14 จังหวัด และจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 28 วัน จำนวน 40 จังหวัด สำหรับกรณีตลาดพรพัฒน์ จ.ปทุมธานี พบผู้ติดเชื้อรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถือว่าควบคุมสถานการณ์ได้ ยังคงเฝ้าระวังติดตามอาการผู้สัมผัสต่อเนื่องจนครบ 14 วัน

นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวต่อว่า กรณีตรวจพบผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล จากไนจีเรีย และเคนยา ติดเชื้อโควิด-19 นั้น ทั้ง 2 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่ได้รายงานไปแล้วเมื่อวันที่ 2 และ 4 มีนาคม 2564 เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ตรวจพบเชื้อในวันแรกของการเข้าสถานกักกันทางเลือก (ASQ) ไม่มีอาการป่วย ส่งรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ใน กทม. และยังไม่ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมในกองประกวด หรือสัมผัสกับผู้เข้าประกวดอื่นๆ แต่อย่างใด ขอให้ประชาชนมั่นใจมาตรการเฝ้าระวังผู้เดินทางจากต่างประเทศ ที่กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงดูแลอย่างเต็มที่ในทุกช่องทาง

ด้าน นายแพทย์จักรรัฐ กล่าวว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2564 ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายใน 13 จังหวัด รวม 17,697 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และอสม. 15,981 ราย, เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,603 ราย ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 22 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 91 ราย ในจำนวนนี้พบผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ 270 ราย มีอาการ ปวด บวม บริเวณที่ฉีด ร้อยละ 24, คลื่นไส้ ร้อยละ15, เวียนศีรษะ ร้อยละ 13 และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ร้อยละ 8 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน ให้ข้อมูลว่า ในต่างประเทศพบได้ 1 ใน 3 ของผู้ที่รับวัคซีนโควิด-19 อาจพบอาการข้างเคียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ส่วนในประเทศไทยมีรายงานพบผู้ที่มีอาการเพียง ร้อยละ 1.5 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดหมายไว้ และยังไม่พบผู้ที่มีอาการรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน

อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมร่างกายก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ ขอให้ปฏิบัติดังนี้ ก่อนเข้ารับบริการฉีดวัคซีน ให้ตรวจสอบว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ได้ลงทะเบียนไว้หรือไม่, พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรงดอาหาร, ไม่กินยาลดไข้ หรือยาแก้ปวด, แจ้งประวัติการแพ้วัคซีน ยา หรืออาหาร, หากมีไข้ ท้องเสียรุนแรง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีอาการของโรคควบคุมได้ไม่ดี ให้เลื่อนออกไปก่อน สำหรับหญิงตั้งครรภ์ยังไม่แนะนำให้ฉีด หลังฉีดวัคซีน หากมีอาการ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปากเบี้ยวให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ห้องสังเกตอาการทันที เมื่อกลับไปอยู่บ้าน อาจพบผลข้างเคียงได้ เช่น ผื่น ปวด บวม บริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำๆ พบได้ภายหลังได้รับวัคซีน 30 นาที - 2 ชม. และอาการจะค่อยๆ ลดลง แต่หากมีไข้สูงมาก ให้รีบกลับมาพบแพทย์ หรือโทร.แจ้ง 1669 ทั้งนี้ หลังฉีดวัคซีน 3 วัน โอกาสแพ้วัคซีนและผลข้างเคียงจะพบน้อยมาก แต่ควรสังเกตอาการต่อไปจนครบ 30 วัน ให้มั่นใจว่าปลอดภัย






กำลังโหลดความคิดเห็น