มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้จัดงาน Collaborative Pathway to Student’s Future อันเป็นการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กับโรงเรียนเครือข่าย 21 แห่ง ในรูปแบบ Virtual มุ่งพัฒนาองค์ความรู้แผนการเรียนนิเทศศาสตร์ในระดับ ม.ปลาย ร่วมกัน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนจากโรงเรียนเครือข่ายลงทะเบียนเรียนวิชาระดับ ป.ตรี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ล่วงหน้า เพื่อเก็บหน่วยกิตไว้เทียบโอนในอนาคตและสามารถเรียนจบ ป.ตรี เร็วขึ้น
ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ มากมาย ทำให้เกิด disruption หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กระทั่งกลายเป็น New Normal หรือความปกติใหม่ในหลายมิติ ส่งผลให้คนเราในทุกช่วงวัยจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ อย่างเร่งด่วนและรวดเร็วที่สุด เพื่อที่จะสามารถปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลง สามารถเอาตัวรอดและเข้าสู่ตลาดงานในอนาคตที่มีความผันผวนได้
นอกจากนี้ ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนของรัฐบาล ยังสนับสนุนการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย หรือที่เรียกว่า Lifelong Learning เพื่อให้ประชากรมีทั้งความรู้ทักษะชีวิตและทักษะการทำงานที่จำเป็นและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงได้จัดตั้งระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) ให้ผู้เรียนสามารถนำผลการเรียนที่ได้จากการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบมาเก็บสะสมไว้ในคลังหน่วยกิตของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อทำการเทียบโอนต่อไป
จากเหตุผลหลักทั้งสองประการข้างต้น มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงริเริ่มให้จัดทำโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กับโรงเรียนเครือข่ายภายใต้แนวคิด University Pathway โดยคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในระดับมหาวิทยาลัย มาถ่ายทอดและพัฒนาแผนการเรียนด้านนิเทศศาสตร์ร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย 21 แห่ง รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป มาลงทะเบียนเรียนวิชาของระดับปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ล่วงหน้า โดยสามารถเก็บหน่วยกิตที่เรียนไปแล้วไว้ในคลังหน่วยกิตเพื่อเทียบโอนในกรณีที่มาศึกษาต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จการศึกษาระดับ ป.ตรี เร็วกว่าปกติ
ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการจัดทำโครงการนี้ว่า
“ปัจจุบันพรมแดนของการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยเพียงแห่งใดแห่งหนึ่ง เราจึงมุ่งที่จะสร้างพื้นที่สาธารณะที่ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะได้มาเรียนรู้และพัฒนาการศึกษาร่วมกัน เพราะทุกวันนี้โลกมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ถ้าระบบการศึกษาไม่ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนั้น คงไม่สามารถพัฒนาทุนมนุษย์ที่เป็นอนาคตอันยั่งยืนของชาติได้โครงการนี้จึงนับเป็นพรมแดนใหม่ของการศึกษาที่จะสร้างโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้ว่า ตัวเองมีความชอบอะไรที่แท้จริงโดยไม่ต้องรอถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อตอนจบมัธยมปลาย และจะเป็นโอกาสให้ทั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และโรงเรียนเครือข่ายทั้ง 21 แห่ง ได้ร่วมกันพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพผมขอขอบคุณโรงเรียนทุกแห่งที่ได้เริ่มต้นทำงานบนจุดมุ่งหมายร่วมกันกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อสร้างเยาวชนชองชาติที่ประสบความสำเร็จในอนาคต”
ทางด้าน ผศ.ดร.ลักคณา วรศิลป์ชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการ ได้กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า
“โครงการนี้จัดขึ้นทำเพื่อตอบสนองการปรับบทบาทใหม่ของระบบการศึกษาที่จำเป็นต้องพัฒนาคนเก่งที่รู้จริงปฏิบัติงานได้ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงแบบสิ้นเชิง หรือ disruption ของตลาดงานทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ อีกทั้งยังสนองตอบเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งหวังให้นักเรียนเรียนมีงานทำ เรียนให้มีอาชีพ และเรียนให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตจึงสนับสนุนให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยทำความร่วมมือกันโดยนำวิชาระดับมหาวิทยาลัยไปปูพื้นฐานให้นักเรียน เพื่อที่นักเรียนจะสามารถค้นหาความถนัดของตนเอง และนำสิ่งที่เรียนไปประกอบอาชีพและหารายได้ได้ทันที”
ขณะที่ ผศ.ดร.อริชัย อรรคอุดม คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้กล่าวถึงแนวคิด University Pathway ว่า
“University Pathway จะทำให้นักเรียนค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบตั้งแต่ยังเรียนมัธยม ซึ่งการค้นพบตัวเองได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้นักเรียนสามารถนำทักษะที่เรียนตั้งแต่มัธยมนี้ไปต่อยอดให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น เราจึงเลือกทักษะสำคัญต่างๆ ทางด้านนิเทศศาสตร์ไปวางรากฐานให้โรงเรียนเพื่อร่วมกันออกแบบแผนการเรียนที่เหมาะสมตั้งแต่ระดับมัธยม นอกจากนี้ นักเรียนที่เรียนในโครงการนี้ยังสามารถนำหน่วยกิตที่เรียนกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพตั้งแต่มัธยม มาเทียบโอนเพื่อเรียนต่อ ป.ตรี ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ ทำให้มีโอกาสเรียนจบ ป.ตรี ก่อน 4 ปี การร่วมมือกับทั้ง 21 โรงเรียน นับเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะในอนาคตเรามุ่งหวังจะขยายแนวคิดนี้ไปยังโรงเรียนอื่นๆ ด้วย”
ทั้งนี้ โรงเรียนเครือข่ายทั้ง 21 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย, เซนต์คาเบรียล, เซนต์โยเซฟระยอง, โพธิสารพิทยากร, สารสาสน์วิเทศคลองหลวง, อัสสัมชัญ, อัสสัมชัญธนบุรี, อัสสัมชัญสมุทรปราการ, อัสสัมชัญอุบลราชธานี, วชิรธรรมสาธิต และโรงเรียนในเครือข่ายเทพศิรินทร์ รวม 11 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์, เทพศิรินทร์ ๙ โครงการหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์, เทพศิรินทร์ ขอนแก่น, เทพศิรินทร์คลองสิบสาม ปทุมธานี, เทพศิรินทร์ชลบุรี (อุทกฯ อุปถัมภ์), เทพศิรินทร์ เชียงใหม่, เทพศิรินทร์ นนทบุรี, เทพศิรินทร์พุแค สระบุรี, เทพศิรินทร์ร่มเกล้า, เทพศิรินทร์ลาดหญ้า กาญจนบุรี และเทพศิรินทร์ สมุทรปราการ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มุ่งหวังว่า การร่วมมือกันระหว่างคณะนิเทศศาสตร์และโรงเรียนเครือข่ายทั้ง 21 แห่งในครั้งนี้ จะสร้างเส้นทางสู่อนาคตให้แก่เยาวชนไทยอย่างชัดเจนและยั่งยืน เพื่อที่เยาวชนจะกลายเป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป