อว.ลุยโครงการ U2T “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำผู้บริหารลงพื้นที่บึงกาฬ ติดตามการจ้างงาน ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนสืบสาน-ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าทอมือกลุ่มผ้าทอสาวภูไท ผ้าอิสานย้อมครามและสีธรรมชาติจากดอกดาวเรือง รวมทั้งต่อยอดนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนขนมปั้นขลิบ ไส้ปลา ไส้เห็ด สร้างแบรนด์ ฉลาก บรรจุภัณฑ์ ใหม่ ขายผ่านช่องทางออนไลน์
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 5 มี.ค. นี้ ตนจะนำผู้บริหาร อว.ลงพื้นที่โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) หรือ U2T ที่ ต.ถ้ำเจริญ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ซึ่งมีผู้ได้รับการจ้างงานจาก อว.จำนวน 527 คน
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เปิดเผยว่า โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T ที่ จ.บึงกาฬ รับผิดชอบโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ดูแล 4 จังหวัด คือ บึงกาฬ อุดรธานี หนองคาย และ หนองบัวลำภู มีผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ จำนวน 2,370 คน แบ่งเป็นบัณฑิตจบใหม่ จำนวน 1,060 คน ประชาชนในพื้นที่ จำนวน 664 คน และนักศึกษา จำนวน 646 คน แบ่งเป็น บึงกาฬ 527 คน อุดรธานี 1,144 คน หนองคาย 352 คน และ หนองบัวลำภู 347 คน โดยเบื้องต้นผู้รับการจ้างงานได้ปฎิบัติภารกิจจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นบัณฑิตใหม่ จำนวน 257 คน แบ่งเป็นที่ จ.บึงกาฬ 57 คน จ.อุดรธานี 125 คน จ.หนองคาย 40 คน และ จ.หนองบัวลำภู 35 คน ส่วนที่เหลือกระจายไปทำงานกับชุมชนด้านต่างๆ
รมว.อว.กล่าวต่อว่า สำหรับ ที่ ต.ถ้ำเจริญ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ผู้นำชุมชนและชุมชน มีความเข้มแข็ง และมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจหลายประเภทโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นประเภทหัตถกรรม คือ การทอผ้าทอมือ และผลิตภัณฑ์ชุมชนขนมปั้นขลิบ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จึงได้ดำเนินโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยการสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาผ้าทอมือกลุ่มผ้าทอสาวภูไท กิจกรรมพัฒนาผ้าอิสานด้วยการย้อมครามและสีธรรมชาติจากดอกดาวเรือง การออกแบบดอกดาวเรือง/ลายดอกลายลูกยางนา (หมากปิ่น) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน การออกแบบบรรจุภัณฑ์กลุ่มผ้าทอมืออิสาน
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือจากฝ้ายธรรมชาติ การการทอผ้าทอมือ โดยส่งเสริมให้ปลูกฝ้ายธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตโดยใช้เส้นใยจากฝ้ายธรรมชาติ และพัฒนาศักยภาพการผลิตผ้าทอมือ โดยจัดกิจกรรมการฝึกอบรม การออกแบบและการตัดเย็บผ้าทอมือการออกแบบลายที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการยอมรับในระดับพื้นฐานและท้องถิ่น
รมว.อว.กล่าวด้วยว่า โครงการ U2T ยังจะร่วมพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน กลุ่มขนมปั้นขลิบ ได้แก่ 1. พัฒนาผลิตภัณฑ์ไส้ขนมปั้นขลิบ จำนวน 2 ไส้ ได้แก่ ไส้ปลา และไส้เห็ด 2. พัฒนาตราสินค้า สลากสินค้า บรรจุภัณฑ์ 3. ส่งเสริมการตลาดและช่องทางการตลาด ได้แก่ อบรมพัฒนาตลาดออนไลน์ และ 4. อบรมการคำนวณต้นทุนผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมเพื่อการเพิ่มมูลค่าทางการตลาด เพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชนและท้องถิ่นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตและการเผยแพร่สินค้าชุมชนให้ผู้ที่สนใจ ได้เรียนรู้สืบทอดภูมิปัญญาเพื่อความวัฒนาถาวร