อาคารสูงเสียดฟ้าของกรุงเทพฯ หลายแห่งถูกปกคลุมไปด้วยม่านหมอกขาวหม่นมัวจนมองแทบไม่เห็นตัวตึกปรากฏการณ์เช่นนี้ปรากฏซ้ำๆ ในช่วงหลายปีหลัง โดยเฉพาะระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์อันเป็นรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนฤดูรวม ทั้งยังเป็นช่วงที่เกษตรกรชาวไร่ชาวนาเริ่มเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวเผาฟางข้าวเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกถั่วหรือเผาป่าเพื่อเปิดพื้นที่ปลูกมัน
“หิมะสีดำ” เป็นชื่อเรียกกันด้วยอารมณ์ขันที่แฝงด้วยความขมขื่นของชาวกำแพงเพชร สุโขทัย ปุยสีดำเทาลอยเคว้งคว้างตกตามอาคารบ้านเรือนกลายเป็นภาพคุ้นตาของประชาชนในจังหวัดที่เอ่ยข้างต้นอันเกิดจากการเผาไร่อ้อยของเกษตรกร ยิ่งไปกว่านั้น การเผาพืชผลทางการเกษตรในจุดต่างๆ ของประเทศ (รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วย) ทำให้เกิดภาวะฝุ่นขนาดเล็กมากที่เรียกว่า Particulate Matter มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมโครกรัมหรือเล็กกว่าเส้นผมของเราเสียอีก ซึ่งฝุ่นเล็กๆ เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคือทำให้แสบตา เคืองตา หายใจลำบาก จนถึงลงไปสะสมในปอดและร่างกายของเรา ทำให้เกิดเป็นโรคร้ายตามมาในอนาคต
เผาไร่เผานา คือปัญหาหลักของฝุ่น PM 2.5
จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก - United Nations ESCAP (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific) หน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ เปิดเผยว่าสภาพอากาศที่เลวร้ายด้วยฝุ่น PM 2.5 ในเมืองใหญ่ๆ ที่หน่วยงานดังกล่าวได้สำรวจ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่และนครศรีธรรมราช พบว่าสาเหตุสำคัญมาจากการเผาผลผลิตทางการเกษตรมากที่สุด มากกว่าการเผาไหม้ของเครื่องยนต์หรือการเดินเครื่องของโรงงาน รวมทั้งฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การก่อสร้างอาคารได้มาตรฐาน มีการควบคุมตรวจตราอย่างเข้มงวดประกอบกับความรับผิดชอบของโครงการ
ESCAP มองวิธีการแก้ปัญหาว่าในระยะสั้น รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ระยะกลาง ทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผาผลิตผลทางการเกษตรลง (ส่วนหนึ่งของ PM 2.5 มาจากการเผาผลิตผลทางการเกษตรของประเทศเพื่อนบ้านแล้วลอยเข้ามาในประเทศเรา) ส่วนในระยะยาวนั้น ต้องลดการปล่อยควันพิษของโรงงานลง รวมทั้งการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ดีเซลด้วย
ลด PM 2.5 เราทุกคนช่วยกันได้
ในขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้ศึกษาเรื่องมลภาวะทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ได้ให้คำแนะนำน่าสนใจที่ไม่ต้องพึ่งพิงภาครัฐก็ทำเองได้เพื่อป้องกันตัวเอง ครอบครัวและคนในสังคม นั่นคือการปลูกต้นไม้ที่สามารถดักจับฝุ่นได้ อย่างเช่น มะม่วง มะขาม ขนุน
นายธัชพล สุนทราจารย์ ภูมิสถาปนิกจากบริษัท แลนด์สเคป คอลลาบอเรชั่น จำกัด เผยถึงการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่ไม่เพียงให้ร่มเงา ช่วยลดอุณหภูมิของเมืองลงแล้ว ยังช่วยดักจับฝุ่นที่ฟุ้งกระจายของตัวเมืองได้อีกด้วย
“การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการออกแบบที่อยู่อาศัยในตัวเมืองในปัจจุบัน ควรจะให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวที่ไม่เพียงสอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อบังคับเท่านั้น แต่ควรเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์คุณภาพสังคมเมือง การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพฯ ซึ่งจากการสำรวจแล้วพบว่าแต่ละคนมีพื้นที่สีเขียวเพียงคนละ 3.3 ตารางเมตร เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับเมือง พร้อมๆ กับการช่วยแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นได้ด้วย”
“จากการค้นคว้าของเราผ่านการศึกษาบทความจากมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ามีต้นไม้หลายชนิด อาทิ ทองอุไร ตะขบฝรั่ง แคแสด อินทนิล ตะแบก มีคุณสมบัติดักจับฝุ่นที่ลอยมาในอากาศ คือ มีจำนวนใบเยอะและมีลักษณะเรียว ต้นไม้มีใบหนา ผิวของใบมีความหยาบ มีขนละเอียด ช่วยดักฝุ่นให้จับกับใบไม่ฟุ้งลอยไปในอากาศ ยิ่งปลูกกันมากเท่าไหร่ ก็เหมือนกับมีเครื่องฟอกอากาศติดไว้ทั่วเมืองครับ” ภูมิสถาปนิกหนุ่มกล่าว