xs
xsm
sm
md
lg

ประมวลภาพประวัติศาสตร์ : ฉีดวัคซีนโควิด-19 วันแรกของประเทศไทย รมว.สธ.ประเดิมเข็มแรกจากซิโนแวค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประมวลภาพ : การฉีดวัคซีนโควิด-19 วันแรกของประเทศไทย“อนุทิน” ประเดิมฉีดวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค เป็นรายแรกของประเทศ ตามด้วยรัฐมนตรีอีกหลายคน โดยมีนายกรัฐมนตรีเดินทางไปให้กำลังใจที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อเช้าที่ผ่านมา

วันนี้ (28 ก.พ.) เมื่อเวลา 07.30 น. ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฉีดวัคซีนโควิด-19 วันแรกของประเทศไทย โดยผู้ประเดิมเข็มแรก คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นับเป็นรัฐมนตรีคนแรกและผู้ชาย

ต่อมาด้าน ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นรัฐมนตรีคนที่สอง แต่เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับทั้งคู่
และนอกจากนี้ ยังมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ทำการฉีดวัคซีนเข็มแรกของไทย ได้กล่าวถึงเรื่องวัคซีนโควิด-19 ของ บ.ซิโนแวค ว่า
“มีประสิทธิภาพลดความรุนแรงของโรคได้ดี โดยป้องกันการป่วยที่มีอาการน้อย ต้องพบแพทย์แบบผู้ป่วยนอกได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันการป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ไม่ต้องพบแพทย์ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนสาเหตุที่ยังไม่ฉีดในคนที่มีอายุ 60 ปีนั้น เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ มีการศึกษาในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ จึงยังไม่ทราบผลในการป้องกันโรคและอาการแทรกซ้อน คาดว่ารอผลการศึกษาประมาณ 2 เดือน เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นอาจปรับเปลี่ยนได้

สำหรับอาการแทรกซ้อนนั้น ข้อมูลของสหรัฐอเมริกา ฉีด 13 ล้านคน มีอาการแพ้รุนแรง 5 คน ในล้านคน เกิดอาการขณะอยู่ในโรงพยาบาล ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนภาพรวมหลังการฉีด 220 ล้านโดส มีผู้เสียชีวิต 113 ราย เมื่อสอบสวนแล้วพบว่า ไม่มีรายใดที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโดยตรง ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ และโรคประจำตัว อาการที่พบส่วนใหญ่เป็นอาการหลังการฉีดวัคซีนทั่วไป เช่น เจ็บ ปวดเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด มีไข้ จึงขอให้มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน”


ทั้งนี้ สำหรับระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเป็นสถาบันเชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ โรคติดเชื้อของประเทศ มี 8 ขั้นตอน เป็นลำดับอย่างต่อเนื่องผ่านไปด้วยดี ใช้เวลารวม 37 นาที สามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ นำไปปรับใช้ได้ โดยก่อนเข้ารับบริการจะมีการคัดกรอง วัดไข้ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล และจัดให้เว้นระยะห่างทุกขั้นตอน

เมื่อเข้ารับบริการตั้งแต่จุดที่ 1 ลงทะเบียน โดยใช้เครื่อง KIOSK ลดการสัมผัส

จุดที่ 2 ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต

จุดที่ 3 คัดกรอง ซักประวัติ

จุดที่ 4 รอฉีดวัคซีน

จุดที่ 5 รับการฉีดวัคซีน ใช้เวลาเพียง 5-7 นาที

จากนั้นจุดที่ 6 ให้นั่งพักรอสังเกตอาการจนครบ 30 นาที มีการจัดห้องปฐมพยาบาล แพทย์/วิสัญญีพยาบาล และอุปกรณ์ช่วยชีวิตพร้อมดูแล และทุกรายต้องสแกน Line official account “หมอพร้อม” เพื่อใช้ติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน 1 วัน 7 วัน 30 วัน แจ้งเตือนรับวัคซีนเข็มที่ 2

จุดที่ 7 ก่อนกลับบ้าน พยาบาลจะตรวจสอบเวลาว่าครบ 30 นาที สอบถามอาการ และให้คำแนะนำ พร้อมแจกเอกสารให้ความรู้

และจุดที่ 8 มี Dash Board จาก Line OA “หมอพร้อม” แสดงการประเมินผลความครอบคลุมการฉีดวัคซีน และอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนแต่ละชนิด ทั้งนี้ เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม จะได้รับใบยืนยันการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทาง Line OA “หมอพร้อม” อีกด้วย














































































กำลังโหลดความคิดเห็น