จากกระแสข่าวพบไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษและแอฟริกาใต้กลายพันธุ์ในผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและกักตัวใน State Quarantine เป็นเหตุให้หลายฝ่ายกังวลว่าวัคซีนที่นำเข้ามาอาจใช้ไม่ได้ผลนั้น ศูนย์โรคอุบัติใหม่ฯ รพ.จุฬาฯ มั่นใจว่าปัจจุบันมาตรการต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะการตรวจเชิงรุกยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อติดตามการแพร่ระบาด และศูนย์โรคอุบัติใหม่ฯยังคงติดตามการเปลี่ยนแปลงสารรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมรับมืออยู่ตลอดอย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเอาชนะไวรัสนี้ได้ แต่การมีแพลตฟอร์มพัฒนาวัคซีนได้เองในประเทศจะยิ่งสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขไทยได้ไม่ว่าไวรัสจะกลายพันธุ์ไปก็ยังสามารถปรับวัคซีนสู้ได้ทัน ด้าน‘จุฬาฯ-ใบยา’ เดินหน้าพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 เตรียมรับมือหากระบาดระลอกใหม่ ดันแคมเปญ "สู้ไม่หยุด วัคซีนเพื่อคนไทย” ขอบคุณและชวนคนไทยร่วมเป็น #ทีมไทยแลนด์ เปิดรับบริจาคได้ถึงสิ้นปี 2564 เร่งผลิตวัคซีนทดสอบในมนุษย์ได้ทันกลางปีนี้
สถานการณ์ล่าสุดเมื่อโควิด-19 กลายพันธุ์ แค่วัคซีนเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่พอ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ‘ไวรัสโคโรนา สามารถกลายพันธุ์ปรับเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จีนค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนาในค้างคาวตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งนอกจากจะมีไวรัสSARS แล้วยังพบว่ามีไวรัสชนิดอื่นแฝงอยู่ด้วย จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าหากไวรัสรวมตัวกันอาจก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ขึ้นมาได้อีก ซึ่งถือเป็นกระบวนการตามธรรมชาติของไวรัสที่อาจกลายพันธุ์เพื่อให้อยู่รอดได้ในทุกสภาวะ ไม่ว่าจะแพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ หรือมนุษย์สู่มนุษย์ย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาแพลตฟอร์มหรือกระบวนการผลิตวัคซีนรองรับเหตุการณ์หรือโรคอุบัติใหม่ให้ทันการณ์ อย่างไรก็ตามเวลานี้ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าไวรัสโควิด-19 จะกลายพันธุ์ไปได้อีกกี่สายพันธุ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ซึ่งศูนย์โรคอุบัติใหม่ฯ คาดการณ์ว่าจะเริ่มตรวจเชิงรุกภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งไม่ได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพียงอย่างเดียวแต่ยังช่วยตรวจหาเชื้อไวรัสชนิดอื่นรวมถึงเชื้อไข้หวัดใหญ่ H5N8 ด้วย’
“จุฬาฯ-ใบยา เตรียมพร้อมรับมือการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาไว้แล้วเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อคนไทยด้วยแพลตฟอร์มผลิตโปรตีนจากใบพืชรุ่นที่สองและรุ่นต่อไป พร้อมรับการกลายพันธุ์แล้วหากมีการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยเตรียมทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์ช่วงกลางปีนี้
รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เปิดเผยว่า “จุฬาฯ-ใบยา ได้เตรียมพร้อมรับมือกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาไว้แล้ว โดยทีมนักวิจัยค้นคว้าหาข้อมูลจนทราบพัฒนาการของเชื้อไวรัส ทันทีที่เราทราบรหัสพันธุกรรมของไวรัสที่กลายพันธุ์ นักวิจัยของใบยาได้ใช้เทคโนโลยีของเราเองพัฒนาต้นแบบวัคซีนได้อย่างรวดเร็วใช้เวลาเพียง 9 วันเท่านั้น ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นเตรียมทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนในระดับห้องปฏิบัติการแล้ว ซึ่งหากไวรัสกลายพันธุ์นี้ระบาดในประเทศไทยเมื่อไหร่ วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันวันนี้อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการพัฒนาวัคซีนเป็นของเราเอง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่มิอาจทราบล่วงหน้าได้”
‘จุฬาฯ– ใบยา’"สู้ไม่หยุด วัคซีนเพื่อคนไทย#ทีมไทยแลนด์" เปิดรับบริจาคต่อเนื่องได้ถึงสิ้นปี2564
ด้าน รศ.ดร.ณัฐชาทวี แสงสกุลไทย รองอธิการบดีด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์นวัตกรรมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ เผยว่า‘เราตระหนักดีว่าขณะนี้คนไทยมีความหวังและกำลังรอคอยวัคซีนโควิด-19เราจึงกำลังพยายามกระชับกระบวนการทุกขั้นตอนให้สามารถทดสอบในมนุษย์ได้ทันภายในกลางปีนี้ โดยเรายังคงมุ่งมั่นตั้งใจเดินหน้าทำเพื่อคนไทยต่อไป’โดยมีเป้าหมายระดมทุนบริจาคให้บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯจึงได้เพิ่มช่องทางรับบริจาคให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น อาทิ ช่องทางสื่อสารหลักผ่านเพจ CUEnterprise, เปิดร้านค้าออนไลน์ของมูลนิธิ CUEnterpriseบน K PLUS, จับมือเพจสถาบันการศึกษาชั้นนำและพันธมิตรมากมาย, เปิดรับทีมไทยแลนด์จากทั่วประเทศและการสนับสนุนต่าง ๆ จากภาคเอกชนและยังคงเปิดรับบริจาคอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2564
ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ ได้รับการติดต่อจากศิลปินดารา ดีไซเนอร์ และพาร์ทเนอร์ สนับสนุนโครงการหลากหลายรูปแบบเช่นกัน โดยล่าสุดคุณเบลล่า ราณี แคมเปน และคุณเวียร์ ศุกลวัฒน์ คณารศ นักแสดงขวัญใจชาวไทยจัดทำกิจกรรมการกุศลจำหน่ายโฟโต้บุ๊กบันทึกการเดินทาง ‘ไม่ใช่ไฮซ์แลนด์ ทำแทนไม่ได้’เพื่อนำรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายมาสนับสนุนโครงการ เป็นกำลังใจให้นักวิจัยคนไทยที่กำลังสู้ไม่หยุดเพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืช ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตที่คนไทยทำได้เองตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศ เพื่อให้คนไทยอีกกว่าสามสิบล้านคนเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงปลายปีนี้
อีกกิจกรรมไฮไลท์ เตรียมพบกับรายการ “The Density คุยเน้นประเด็นแน่น” เกาะติดสถานการณ์การต่อสู้กับโควิด-19 ไขข้อข้องใจที่คนไทยอยากรู้เกี่ยวกับการวิจัยพัฒนาและจัดหาวัคซีนเพื่อคนไทย แต่ละสัปดาห์จะมีกูรูผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เตรียมออกอากาศตอนแรกEP.1: เมื่อโควิด-19 กลายพันธุ์แค่วัคซีนคงยังไม่พอทุกวันพฤหัสบดี เริ่มตอนแรกวันที่ 25กุมภาพันธ์นี้เวลา 20.00 น.ทางเฟซบุ๊ก CUEnterpriseและ Chula Alumni
มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ ยังคงเปิดรับบริจาคอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบที่เอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ผ่าน 3 ช่องทางได้แก่
- ช่องทางที่ 1 บริจาคโดยตรงผ่านเลขบัญชี 162-6-01946-0 มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ ธนาคารกรุงไทย สาขา จามจุรีสแควร์
-ช่องทางที่ 2 สแกน QR Code ผ่าน Mobile Banking ของธนาคารใดก็ได้บนเว็บไซต์ www.CUEnterprise.co.th
- ช่องทางที่ 3 บริจาคผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา เพียงแสดงบัตรประชาชน
สมาชิก #ทีมไทยแลนด์ที่บริจาคแล้ว ลงทะเบียนรับสิทธิสมนาคุณตอบแทนน้ำใจผู้บริจาคได้แล้ววันนี้
สำหรับสมาชิกทีมไทยแลนด์ที่บริจาคเข้ามา สามารถนำสลิปมาลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิสมนาคุณผ่านทางเว็บไซต์ www.CUEnterprise.co.th โดยระบบจะส่งอีเมล์หรือ SMS กลับไปเพื่อแจ้งรายละเอียดสิทธิสมนาคุณต่างๆ ตามที่โครงการกำหนด และสามารถเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2576-5500หรือเว็บไซต์ www.CUEnterprise.co.th เฟซบุ๊ก CUEnterpriseOfficialและ ไลน์ @CUEnterprise