ก.แรงงาน เปิดสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล ป้อนแรงงานสู่ภาคอุตสาหกรรม ยกระดับธุรกิจ และขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน Building Thailand Digital Workforce ซึ่งภายในงานประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ การเปิดตัวสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (Digital Skill Development Academy: DISDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อดูแลการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่แรงงาน การเปิดตัว DSD App ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมการให้บริการของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานไว้ในที่เดียว และเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับธุรกิจ พร้อมมอบโอวาทให้แก่ผู้เข้ารับการสัมมนาจำนวน 100 คน ณ ห้องประชุม จอมพล ป. พิบูลสงคราม กระทรวงแรงงาน
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และการกำกับดูแลของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้หน่วยงานรัฐดำเนินงานภายใต้การบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายตามแนวทางประชารัฐ และมุ่งเน้นพัฒนาทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อปฏิรูปประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 โดยได้กำหนดทิศทางให้กำลังคนในประเทศต้องมีความรอบรู้ สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการทำงานในทุกด้าน ทั้งการทำงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ การประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติและอุปกรณ์อัจฉริยะ การทำงานรูปแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ไปจนถึงรองรับทักษะและอาชีพในอนาคต เพื่อให้แรงงานไทยสามารถเผชิญหน้ากับสถานการณ์การทำงานในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกได้ จึงได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล เพื่อจัดทำแผนพัฒนากำลังคน ส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม และเชื่อมโยงความร่วมมือพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ให้รองรับความต้องการของภาคเอกชนในการปรับเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพิ่มรูปแบบการเรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัล จัดให้บริการทั่วประเทศ ทั้งรูปแบบ online และ offline ด้วย DSD Application ซึ่งเป็นช่องทางการเข้าถึงที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา
รมช. แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้เราได้รับความร่วมมือจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสมาร์ทดีไวซ์ระดับโลก พร้อมจะร่วมช่วยสร้างโอกาสการเรียนรู้และจัดการฝึกอบรมที่เน้นการพัฒนาทักษะแรงงาน รวมไปถึงการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน (Re Skill) และการยกระดับทักษะเดิมที่ดียิ่งขึ้น (Up Skill) เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ช่วยลดอัตราการว่างงาน เพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น พัฒนาด้านดิจิทัลให้แข็งแกร่ง เพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะสูงให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 และในวันนี้ยังได้ส่งวิทยากรมาบอกเล่าเรื่องราวของ 5G, ไอโอที, Cloud กับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาทักษะและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในความร่วมมือในการพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งนอกจากจะมีเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ด้วย และเปิดโอกาสให้ผู้นำด้านเทคโนโลยีได้นำเสนอแนวทางและข้อเสนอแนะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรม ให้ผู้ประกอบกิจการได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาทักษะแรงงาน และให้สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล ในฐานะผู้ให้บริการ มีข้อมูลในการวางแผนพัฒนากำลังคนต่อไป
“ขอบคุณหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและมีส่วนรวมในการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลเป็นทักษะที่แฝงอยู่ในทุกภาคอุตสาหกรรม มีบทบาทอย่างยิ่งในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต” รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด