xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ใช้กลยุทธ์ Bubble and Seal ควบคุมโควิด-19 ในโรงงานขนาดใหญ่ 7 แห่ง สมุทรสาคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ใช้กลยุทธ์ Bubble and Seal ควบคุมโควิด-19 ในโรงงานขนาดใหญ่ 7 แห่ง จังหวัดสมุทรสาคร อาศัยความร่วมมือสถานประกอบการจัดระบบที่พัก ขนส่งพนักงาน โรงงานเดินหน้าต่อได้ ส่วนโรงงานขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตรวจหาเชื้อเชิงรุกต่อเนื่อง พร้อมให้โรงงานเข้มการป้องกันโรค         
วันนี้ (2 ก.พ.) ที่ จ.สมุทรสาคร นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร โดยนายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อติดตามและร่วมวางแผนแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร หลังพบจุดเสี่ยงสำคัญการติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในโรงงานเป็นหลัก จึงต้องบริหารจัดการโดยใช้มาตรการทางสังคมและมาตรการองค์กร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกแบบกลยุทธ์เฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร ใช้หลักการจัดการโควิด-19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม (Bubble and Seal) เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้หลุดออกมาสู่สังคมภายนอก เน้นในโรงงานขนาดใหญ่ (มีพนักงานมากกว่า 500 คน) เป้าหมายลดความเสี่ยงในที่ทำงานและที่อยู่อาศัย และลดความเสี่ยงของกลุ่มพนักงาน เพื่อควบคุมโรคให้ได้ตามแผนที่วางไว้

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับสถานประกอบการ เรื่องลักษณะที่พัก การเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวันพนักงานในสถานที่ทำงาน และมาตรการของโรงงานในการกำกับดูแล พบมี 7 โรงงานที่เข้าเกณฑ์ที่จะดำเนินการตามหลักการ Bubble and Seal มีพนักงานรวม 50,083 คน ขณะนี้ 3 โรงงานเริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนอีก 4 โรงงานเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งไม่มีที่พักให้กับพนักงาน จะประสานหาแนวทางและปรับรูปแบบที่เหมาะสมให้สามารถควบคุมโรคได้ ส่วนในโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ยังคงใช้หลักการตรวจหาเชื้อเชิงรุก (Active Case Finding) โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อจะนำออกมารักษาตามระบบ ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อให้ทำงานต่อได้           

สำหรับหลักการจัดการโควิด-19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม (Bubble and Seal) คือ Seal  ใช้กับโรงงานที่พนักงานสามารถพักในโรงงานได้ เอื้อต่อการใช้มาตรการ คาดว่า ใช้เวลา 28 วัน จะสามารถควบคุมโรคได้ ส่วน Bubble ใช้กับโรงงานที่พนักงานพักอยู่นอกโรงงาน จะมีการควบคุมโรคที่ยากกว่า ขอความร่วมมือเจ้าของโรงงานนำพนักงานมาอยู่ในโรงงานให้มากขึ้น หรือจัดหาที่พักพนักงานให้อยู่ในสถานที่ที่กำหนด ควบคุมได้ เช่น หอพัก พร้อมให้โรงงานเข้มมาตรการป้องกันโรค นอกจากนี้ ได้ประสานฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมควบคุมพื้นที่ตามแผน ส่วนเรื่องการปิดโรงงานจะดำเนินการเป็นวิธีสุดท้าย นอกจากพบว่าเป็นแหล่งเพาะเชื้อ และไม่สามารถควบคุมโรคได้จะประสานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อออกคำสั่งต่อไป














กำลังโหลดความคิดเห็น