อว. เผย ประชาชนร่วมมือกันป้องกันโควิด เตรียมพร้อมผ่อนคลายมาตรการ คนกรุงใส่หน้ากากอนามัยถึง 97.53% การ์ดยังสูงทั้งเช้าและเย็น กรุงเทพฯ รอบนอกใส่หน้ากากน้อยกว่ากรุงเทพฯ รอบใน
วันนี้ (31 ม.ค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายงานว่า ตามที่ ศบค. ได้มีการประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นั้น ประเทศไทยสามารถจํากัดและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้อยู่ในขอบเขตได้เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง เป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกภาคส่วน ดังนั้น เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุข โดยมุ่งถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ศบค. จึงมีมาตรการผ่อนคลาย เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ตามลำดับขั้นตอนและตามสภาพของพื้นที่สถานการณ์ที่สอดคล้องกับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ อย่างไรก็ตาม ก็จำเป็นต้องยังคงมาตรการสำคัญ โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่าทางกระทรวง อว. โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนาของ ศบค. ได้บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร สำนักนายกรัฐมนตรี สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (ระบบเอไอ) ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง และคณะผู้วิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และโครงการซูเปอร์เอไอเอ็นจิเนียร์ ภายใต้การนำของ ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร
โดยโครงการนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ได้สนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยในการดำเนินการโครงการ เพื่อประมวลผลการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชน ซึ่งระบบเอไอดังกล่าวนี้ มีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากสามารถที่จะติดตามและวัดผลว่าประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ใส่ รวมทั้งมีการใส่แต่ไม่ถูกต้อง ซึ่งระบบสามารถประมวลผลอย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็วแบบเรียลไทม์ จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการบริหารสถานการณ์ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง หรือในเวลาใด รวมทั้งใช้ในการประเมินภาพรวมว่าได้มีความเข้มงวด หรือระมัดระวังในการป้องกันการแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าการ์ดสูงหรือการ์ดตก รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวังและหาบริเวณที่มีความเสี่ยงเพื่อจะลดโอกาสเสี่ยงได้ล่วงหน้า ทำให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ในการเตือนประชาชนให้กระชับมาตรการในบางช่วงบางเวลาได้ด้วย ทั้งนี้ ยังจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับใช้ในการติดตามสถานการณ์ในช่วงที่มีการผ่อนคลายตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป
ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง แจ้งว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-27 มกราคม 2564) ได้ใช้ระบบเอไอนี้ ติดตามความร่วมมือในการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชน พบว่า ในกรุงเทพมหานครประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดีมาก โดยใส่หน้ากากอนามัยถึง 97.53% โดยมีเพียง 1.05% ที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย และ 1.42% ที่ใส่หน้ากากอนามัยแต่ไม่ถูกต้อง เช่น ใส่ที่ใต้คาง หรือไม่ปิดจมูกและปาก แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความระมัดระวังและให้ความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมการระบาด
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียด พบว่า แต่ละเขตของกรุงเทพมหานครมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยพื้นที่รอบนอก เช่น เขตดอนเมือง บางกะปิ มีอัตราการใส่หน้ากากอนามัยแบบถูกต้องน้อยกว่าในเขตกรุงเทพชั้นในเล็กน้อย เกือบทุกเขตมีอัตราใส่หน้ากากอนามัยมากกว่า 95% แต่เขตดอนเมืองใส่หน้ากากอนามัย 89.45% และเขตบางกะปิ ใส่หน้ากากอนามัย 94.05% และยังพบข้อมูลเบื้องต้นว่าในช่วงเช้ามีการใส่หน้ากากอนามัยมากกว่าในช่วงบ่ายเพียงเล็กน้อย (97.41% เทียบกับ 96.98%) ซึ่งอาจจะแสดงว่าประชาชนยังระมัดระวังตัวตลอดเวลา หรืออาจจะแสดงว่าในช่วงเช้าเวลาออกจากบ้านยังระวังตัวอยู่ มีการใส่หน้ากากอนามัยมาก แต่ในช่วงบ่ายอาจจะรู้สึกผ่อนคลาย การ์ดตกลงมาบ้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะต้องวิเคราะห์ติดตามต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปรับแนวทางการรณรงค์การสวมใส่หน้ากากอนามัยด้วย
“นอกจากนี้ กลุ่มที่ไม่ใส่หน้ากากหรือใส่หน้ากากอนามัยไม่ถูกต้องมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ (เสาร์และอาทิตย์) นอกจากนี้ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา อัตราการใส่หน้ากากอนามัยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แสดงถึงการให้ความร่วมมือที่มากขึ้นเนื่องจากกระแสข่าวเรื่องการพบผู้ติดเชื้อ
ส่วนในบริเวณพื้นที่ขนส่งสาธารณะ เช่น สถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถประจำทาง ในเขตตัวเมืองชั้นในนั้น พบว่า ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยค่อนข้างมากถึงร้อยละ 98-99% ซึ่งเป็นผลดี แต่บริเวณขอบกรุงเทพมหานคร เช่น เขตดอนเมืองทางตอนเหนือของกรุงเทพ พบว่ามีผู้ไม่สวมหน้ากากหรือสวมไม่ถูกต้องมากกว่า 10% จึงอยากให้มีความระมัดระวังในการสวมหน้ากากอนามัย ให้มากขึ้น”
“ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กระทรวง อว. พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ได้จริงให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชน ซึ่งเทคโนโลยีเอไอเพื่อวิเคราะห์การใส่หน้ากากอนามัยนี้ เป็นหนึ่งในผลการวิจัยและพัฒนาของ อว. ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการบริหารสถานการณ์โรคโควิด-19” ปลัดกระทรวง อว. กล่าว