โฆษก กทม. ชี้แจงกรณีไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิด-19 ระบุ มีการปกปิดให้ข้อมูล ยึดตามใบโนเวล หรือใบสอบสวนโรคของทาง รพ. เร่งสอบสวนหากผู้ป่วยให้ข้อมูลเท็จ พบมีการปกปิดข้อมูลจริง ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
วันนี้ (28 ม.ค.) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร แถลงกระบวนการออกไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิด-19 หลังมีผู้ป่วยบางรายปกปิดการให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ โดยโฆษก กทม. กล่าวว่า เมื่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาล แพทย์จะซักประวัติ และไปพื้นที่เสี่ยง หลังจากนั้น จะส่งใบสอบสวนโรค หรือ ใบโนเวล ไปยังกรมควบคุมโรค และ กทม. และเมื่อ กทม.ได้รับข้อมูลแล้วจะโทรศัพท์ไปตรวจสอบและจะอัปเดตข้อมูลไปตามที่ได้รับแจ้ง โดยหลังจากสำนักอนามัยได้ข้อมูลดังกล่าวมาแล้ว ก็จะมีคณะกรรมการที่ผู้ว่าฯ กทม.ตั้งขึ้น ทำการตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย ก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะ
“ไทม์ไลน์ที่ กทม.ออก เป็นกระบวนการที่ได้รับมา ซึ่งแพทย์ที่ได้รับเคสจะเขียนใบโนเวล เอกสารทุกอย่าง กทม.มี แต่ทางเราก็ถามเพิ่มเติม ซึ่งบางรายตอบ บางรายก็ไม่ตอบ จึงเป็นที่มาของข้อมูล”
โฆษก กทม.กล่าวถึงผู้ป่วยรายที่ 647 ว่า ใบโนเวล หรือใบสอบสวนโรค ที่ได้รับมานั้นไม่ค่อยทราบข้อมูล โดยทราบจากที่ทางผู้ป่วยได้แถลงเอง รวมถึงให้ข้อมูลกับ กทม. เช่น ช่วงวันที่ 10-21 ม.ค. ผู้ป่วยแจ้งว่าไม่ได้ไปไหนเลย จึงเป็นอุปสรรคเราต้องเช็กว่าเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงหรือไม่ ทำให้ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมตรวจสอบด้วย
ส่วนผู้ป่วยรายที่ 658 ยืนยันว่า ใบโนเวลที่ให้ข้อมูลชัดเจนตั้งแต่แรก ว่า ผู้ป่วยเดินทางไปโรงแรมบันยันทรีจริง เมื่อวันที่ 9 ม.ค. แต่การสอบสวนโรควันที่ 27 ม.ค. เวลา 18.00 น. ผู้ป่วยบอกว่าไม่ได้ไป แต่มีเพื่อนที่ไปมาหา ซึ่งก็ต้องพิสูจน์ว่าการสอบสวนโรคในวันแรกจากบุคลากรทางการแพทย์ ตอนนี้อยู่กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง
“อีกปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนโรค คือ การไม่ให้ข้อมูล ซึ่งก็มีผู้ป่วยที่ไม่ให้ข้อมูล แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ป่วยหลายคนให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และขอยืนยันว่า กทม.ใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อควบคุมโรค ไม่ใช่การประจาน” โฆษก กทม. กล่าว
สำหรับกรณีผู้ป่วยที่ให้ข้อมูล ขอสงวนสิทธิ์ไม่ให้นำเสนอต่อสาธารณะนั้น กรณีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลหรือพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น บ้าน คอนโดมิเนียม จึงจะขอสงวนสิทธิ์ได้ แต่ในที่สาธารณะไม่สามารถเปิดเผยได้ เช่น หากมีเพื่อนมาพบที่ห้อง สิ่งที่ กทม.ทำได้คือการเข้าไปสอบสวนโรคเพื่อนรายนั้น ซึ่งข้อมูลไม่เปิดเผยได้ แต่หากเพื่อนรายนั้นป่วย ก็สามารถเปิดเผยพื้นที่สาธารณะที่ผู้ป่วยไปได้
โฆษก กทม. กล่าวถึงการออกไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อล่าช้า เนื่องจากบางเรื่องต้องใช้กระบวนการ และการสอบสวนโรคไม่ได้ทำให้ทราบข้อมูลทั้งหมดในครั้งเดียว แต่ต้องทำหลายครั้ง ยืนยันว่า หากได้รับข้อมูลเป็นเท็จก็จะดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งผู้ที่จะสามารถแจ้งความได้ คือ เจ้าพนักงานควบคุมโรค แต่หากผู้ป่วยยืนยันที่จะไม่ให้ข้อมูลหรือปิดบังข้อมูล ก็สามารถดำเนินการได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนข้อมูลของผู้ป่วย 2 คนว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
“ส่วนมากให้ข้อมูลหมดแล้ว แต่ที่ กทม.หนักใจคือเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างสืบสวน”
ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานครมีกระบวนการสอบสวนโรค “กลุ่มก้อนที่มีงานเลี้ยง” อย่างชัดเจน ขณะนี้ยังไม่ได้ออกไทม์ไลน์ผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องอีกหลายคน ซึ่งกลุ่มนี้ให้ข้อมูลเป็นอย่างดี ดังนั้น กระบวนการสอบสวนโรที่ทำอยู่ เป็นกระบวนการที่ถูกต้องและมีเอกสารชัดเจน