เมื่อวันที่ 21 ม.ค. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือ และมอบนโยบายด้านอาชีวศึกษาให้กับคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ชุดใหม่ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมี นายรอยล จิตรดอน เป็นประธาน โดยกล่าวว่า วันนี้ได้ชี้แจงให้ทราบถึงนโยบาย และความตั้งใจที่จะผลักดันอาชีวศึกษาให้มีความเข้มข้น รวมถึงแนวทางในการจัดตั้งศูนย์อบรมเพื่อความเป็นเลิศด้านอาชีวศึกษา หรือ Excellence Center-HCEC การผลักดันด้านการเกษตร และแผนการพัฒนาคุณครู
“เป็นการวางพื้นฐานทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยคณะกรรมการมีความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในเรื่องของแนวทางต่างๆ ที่ทำให้ได้ประโยชน์ในการที่จะนำไปพัฒนาแก้ไข รวมถึงการร่วมมือกับสถานประกอบการภาคเอกชน เพื่อจะมีวิทยาลัยที่มีคุณภาพให้ได้ เราพูดถึงกันมากในเรื่องของคุณภาพมากกว่าปริมาณ ถึงแม้ปริมาณจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่เรายังขาดอยู่ แต่ว่าคุณภาพของอาชีวะซึ่งเกี่ยวกับทักษะฝีมือ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างทรัพยากรมนุษย์” นายณัฏฐพล กล่าว
นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ยังกล่าวอีกว่า หลังจากนี้ ทาง กอศ.จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเป็นรายกลุ่มเพื่อนำเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับการอาชีวศึกษา รวมถึงไฮไลต์สิ่งที่ดีๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมาจากประสบการณ์ของกรรมการแต่ละคน
นายณัฏฐพล กล่าววว่า กรรมการหลายคนบริหารกิจการในหลายธุรกิจ หรือหลายบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นปัญหาของประเทศ แต่ที่ผ่านมา อาจจะยังไม่สามารถเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างอาชีวะกับกลุ่มธุรกิจนั้นๆ ได้ เช่น เรื่องกลุ่มธุรกิจน้ำ หรือเรื่องของการซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งที่ประชุมยังได้หารือถึงหลักสูตรของอาชีวศึกษาที่ต้องมีความทันสมัยด้วยเช่นกัน
“เรื่องของหลักสูตร หลายท่านได้พูดถึงว่าต้องมีความยืดหยุ่น ซึ่งเรื่องนี้ทางเลขาอาชีวศึกษาได้รับไปแล้ว และได้พยายามปรับแล้วในหลายๆ หลักสูตรวิชา รวมถึงการเทียบมาตรฐาน และคุณวุฒิวิชาชีพ ก็ได้พูดถึงในหลายๆ ประเด็น เพื่อทำให้เด็กที่เรียนในอาชีวะ มีมาตรฐานโดยที่ไม่ต้องไปเทียบกับสาธารณสุข หรือของแรงงาน ในเรื่องของใบอนุญาตประกอบอาหาร ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนในการออกประกาศนียบัตร หรือใบอนุญาต ซึ่งเราต้องทำให้เด็กๆ ลดความซ้ำซ้อนในหลักสูตร หรือการทำงานต่างๆ” นายณัฏฐพล กล่าว
ขณะเดียวกัน จะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการติดตามเรื่องความสามารถของเด็กในช่วงชั้นเรียน เพื่อเป็นเครดิตแบงก์ให้กับนักเรียนได้ เพื่อการต่อยอดทางการศึกษาต่อในอนาคต
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันหลายภาคส่วนมีความเห็นพ้องต้องกันว่าขอให้การศึกษาด้านอาชีวศึกษามีคุณภาพจริง มีหลักสูตรที่ความเข้มข้น และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย น้องๆ นักเรียนที่จบการศึกษามีความพร้อมที่จะไปทำงาน ดังนั้น การเรียนการสอนของวิทยาลัยอาชีวะแต่ละแห่ง ควรเลือกเปิดสาขาที่มีความเชี่ยวชาญจริง