สาธารณสุขเผยแนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายวันเริ่มชะลอตัว ยังคงเข้มมาตรการเฝ้าระวังในระบบบริการ ค้นหาเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงต่อเนื่อง พบผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ให้สถานประกอบการ ยกระดับมาตรการองค์กร ขอประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างสร้างภูมิป้องกันโรคด้วยตนเอง
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย ระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2564 ผู้ป่วยยืนยันสะสม 7,213 ราย วันนี้มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ 188 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 154 ราย เดินทางจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักกันตัว 34 ราย กลับบ้านได้เพิ่มขึ้น 628 ราย รวมกลับบ้านสะสม 4,348 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 2,856 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยอาการหนัก 25 ราย ในจำนวนนี้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 13 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตคงอยู่ที่ 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.12 ซึ่งต่ำกว่าระลอกแรก เนื่องจากผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน อาการของโรคไม่ได้รุนแรง ขณะที่ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีจำนวนไม่มาก รวมทั้งมีการค้นหาเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการเพิ่มขึ้น
นายแพทย์ทวีทรัพย์ กล่าวต่อว่า จำนวนผู้ติดเชื้อกลุ่มใหญ่อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร มีกว่าร้อยละ 55 ของผู้ติดเชื้อในระลอกใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเกิดกลุ่มใหม่ๆ ตามมา เช่น สถานบันเทิง บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามต่อเนื่อง โดยรายงานผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศขณะนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงในวันนี้ จ.สมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 99 ราย, ชลบุรี 4 ราย, ระยอง 6 ราย, กรุงเทพมหานคร 27 ราย, สมุทรปราการ 5 ราย, จันทบุรี 2 ราย สำหรับ จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนสนามชนไก่ วันนี้ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมีผู้ติดเชื้อในจังหวัดสะสม 89 ราย กระทรวงสาธารณสุขยังคงค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยง ติดตามกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้ครบ 14 วัน และเข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังในระบบบริการ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ
นอกจากนี้ ยังพบการติดเชื้อในสถานประกอบการมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับช่วงอายุของผู้ติดเชื้อว่าอยู่ในช่วงวัยทำงาน อาการจะน้อยหรือไม่แสดงอาการ อาจเกิดการแพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัว จึงขอเน้นย้ำให้สถานประกอบการ ยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคในองค์กร พิจารณาการสุ่มตรวจพนักงาน เข้มงวดการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยเริ่มจากผู้ที่มีโอกาสเป็น Super-spreader ก่อน เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม อาทิ ลูกบิดประตู ห้องน้ำ ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได เป็นต้น ส่วนพนักงานให้สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อลดความเสี่ยงในแพร่และรับเชื้อ
“ระหว่างรอนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขอให้ทุกคนใช้วัคซีนที่ทำเองได้ ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และไม่ไปในสถานที่เสี่ยง ซึ่งเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันจะช่วยให้ปลอดภัย ห่างไกลโรคโควิด 19” นายแพทย์ทวีทรัพย์ กล่าว