เมื่อสถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่กลับมาอีกครา ความกังวลใจ ความวิตกกังวล ตามมาด้วยความระมัดระวัง และดูแลตัวเองก็กลับมาเข้มงวดอีกครา รวมไปถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องปรับตัวกันใหม่
โดยเฉพาะการ Work from Home ของผู้ใหญ่ และ Learn from Home ของเด็ก
ในส่วนของเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ต้องเลื่อนเปิดเรียนไปราว ๆ ปลายเดือนมกราคม 2564 ส่วนบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยก็กลับมาทำงานผ่านระบบออนไลน์กันอีก
แม้ไม่มีใครอยากเจอสถานการณ์เดิม แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบกันไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อแผนการเงินและแผนชีวิตของผู้คน
หรือแม้แต่ผลกระทบทางด้านครอบครัวก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะผลกระทบครั้งนี้เชื่อมโยงถึงกันหมด จึงเป็นเรื่องที่ครอบครัวน่าจะต้องพยายามแสวงหามุมมองบวกต่อการใช้ชีวิตท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตที่ไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อไปถึงเมื่อไหร่
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอว่าในสถานการณ์ปกติ ก็ทำงานและใช้ชีวิตแบบปกติ แต่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เราก็ต้องมีวิธีการในการทำงานและใช้ชีวิตในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จึงจะทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปอย่างมีสัมพันธภาพที่ดี
มองในแง่ดีเหมือนเราเคยผ่านประสบการณ์มาจากปีที่แล้ว การรับมือและการจัดการชีวิตจึงมีความพร้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้ชีวิต การ Work from Home และ Learn from Home รวมไปถึงการจัดการเรื่องความปลอดภัย และการจัดการเรื่องสัมพันธภาพในครอบครัวให้ลงตัว
เมื่อเคยรับมือกับสถานการณ์นี้มาก่อนก็ทำให้การจัดการการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวเป็นไปได้ด้วยดี แต่กระนั้นก็มีหลายครอบครัวที่แม้จะผ่านประสบการณ์มาแล้ว ก็ยังมีปัญหาและทำให้เกิดความขัดแย้งในรูปแบบการใช้ชีวิตอยู่ไม่น้อย ซึ่งสืบเนื่องมาจากเจอกันทุกวัน ทำให้มีการกระทบกระทั่งกันก็มีไม่น้อย
ลองตั้งหลักและพยายามหาทางออกที่สมดุลร่วมกัน
หนึ่ง – มีพื้นที่และเวลาส่วนตัว
เป็นธรรมดาของการอยู่ร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง อาจทำให้เกิดกระทบกระทั่งกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยา พ่อแม่ลูก ยิ่งถ้าก่อนหน้านี้ต่างคนต่างไปทำงานนอกบ้าน ลูกก็ไปโรงเรียน เมื่อมาอยู่ร่วมกันก็อาจมีปัญหาได้บ้าง จึงจำเป็นต้องมีการจัดสรรพื้นที่และเวลาส่วนตัวของทุกคน จะแยกห้องหรือแยกโดยพื้นที่ ก็สุดแท้แต่รูปแบบของที่อยู่อาศัย แต่ต้องมีพื้นที่หรือเวลาส่วนตัวของแต่ละคน เพื่อใช้ในการทำงานหรือเรียน โดยมีการพูดคุยกันถึงช่วงเวลาจำเป็นที่ต้องขอความเป็นส่วนตัว ที่สำคัญต้องเคารพซึ่งกันและกัน
สอง – มีพื้นที่และเวลาส่วนรวม
เมื่อมีพื้นที่และเวลาส่วนตัว ก็ต้องมีข้อตกลงร่วมกันด้วยว่าควรมีพื้นที่และเวลาส่วนรวมด้วยกัน เป็นช่วงที่ใช้เวลาร่วมกันในการพูดคุย เช่น มื้ออาหาร ช่วงหัวค่ำ หรือช่วงเวลาที่แต่ละครอบครัวจัดสรรขึ้นมาเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยวางงานของทุกคนลงและถือโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงชีวิตหรืออุปสรรคปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วย
สาม – ปรับตัวเอง
เมื่อต้องอยู่ร่วมกันตลอดเวลา จำเป็นที่ทุกคนต้องพยายามปรับตัว ปรับใจ ปรับอารมณ์ของตัวเอง โดยเริ่มจากพ่อแม่ผู้ปกครองก่อน เช่น จากที่เคยเป็นคนหงุดหงิดง่าย หรืออารมณ์เสียบ่อย ก็ต้องพยายามปรับตัว บ่นให้น้อยลง ควบคุมอารมณ์ให้ได้ มิเช่นนั้นแล้วจะทำให้เสียบรรยากาศการอยู่ร่วมกันได้ และแน่นอนเมื่อลูกเห็นพ่อแม่พยายามปรับตัว เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้น ลูกก็จะให้ความร่วมมือไปโดยปริยาย
สี่ – ออกแบบกิจกรรมร่วมกัน
ช่วงเวลานี้ต้องถือเป็นปัญหาของทั้งโลก เรามาพยายามทำวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการสร้างความสุขภายในบ้าน อาจจะออกแบบให้สมาชิกทุกคนมีกิจกรรมร่วมกัน บางอย่างที่เราเคยอยากทำแล้วไม่มีเวลาได้ทำ ตอนนี้มีโอกาสก็ลงมือทำเลย หลักสำคัญคือให้สมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วม บนพื้นฐานที่เราทำได้ เช่น ทำอาหาร ปลูกผักสวนครัว ทาสีรั้วบ้าน จัดบ้านให้เรียบร้อยใหม่ ฯลฯ
ห้า – ใช้พลังบวก
ถือโอกาสพูดคุยเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน เอาประเด็นเหล่านี้มาคุยกับลูกร่วมกัน ทั้งเรื่องราวภายในประเทศและต่างประเทศ สอดแทรกได้หลากหลายเรื่อง อาจเป็นการตั้งคำถาม ทำไมถึงต้องอยู่บ้าน ทำไมลูกต้องปิดเรียนนาน ทำไมต้องล้างมือบ่อย ๆ เป็นเรื่องที่เอามาคุยกับลูกได้หมด แล้วลูกมีความคิดอย่างไร ต้องสื่อสารร่วมกันในครอบครัว หยิบมาเป็นบทเรียนชีวิตได้ดีมาก ๆ การเอาเหตุการณ์จริง ให้พยายามใช้คำถามปลายเปิด และกระตุ้นให้เกิดการมองหามุมดี ๆ ใช้พลังบวกในยามวิกฤต และให้ลูกได้สะท้อนความรู้สึกร่วมกัน
อย่าลืมว่านี่เป็นปัญหาร่วมของสังคม มิใช่เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง การแก้ปัญหาต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนหาทางออกร่วมกัน
ปรับตัวไว้ให้ชิน สำหรับโลกยุคใหม่ WFH อาจไม่ใช่เรื่องชั่วครั้งชั่วคราวเสียแล้ว....