กระทรวงสาธารณสุข เผย 7 วัน เทศกาลปีใหม่ 2564 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง โดยมีผู้บาดเจ็บรวม 20,506 ราย เสียชีวิต 389 ราย ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 29 และ 19 ตามลำดับ ขณะที่ผู้บาดเจ็บจากการดื่มสุราลดลงด้วยร้อยละ 26 หลังขับเคลื่อนนโยบาย “ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม” มอบ อสม. ตั้งด่านชุมชนช่วยสกัดคนเมา
วันนี้ (4 ม.ค.) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ยังคงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ในช่วง 7 วันของเทศกาลปีใหม่ 2564 หรือตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 - 4 มกราคม 2564 มีข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยมีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 20,506 ราย เสียชีวิตรวม 389 ราย ถือว่าลดลงจากปี 2563 ที่พบผู้บาดเจ็บ 29,155 ราย เสียชีวิต 482 ราย หรือลดลงร้อยละ 30 และ 19 ตามลำดับ โดยผู้ป่วยเข้ารับการรักษาหรือ Admit ในโรงพยาบาล 4,065 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา 1,051 ราย, เชียงใหม่ 814 ราย, ขอนแก่น 754 ราย, บุรีรัมย์ 631 ราย และเชียงราย 596 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา 27 ราย, เชียงราย 17 ราย, บุรีรัมย์ 16 ราย, อุดรธานี และ ชลบุรี จังหวัดละ 14 ราย
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตยังคงสูงในช่วงวันสิ้นปีและวันขึ้นปีใหม่ โดยวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีผู้บาดเจ็บ 4,523 ราย เสียชีวิต 79 ราย ส่วนวันที่ 1 มกราคม 2564 มีผู้บาดเจ็บ 4,025 ราย เสียชีวิต 83 ราย โดยพบว่าไม่สวมหมวกนิรภัย หรือหมวกกันน็อก 2,773 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 564 ราย คิดเป็นร้อยละ 26 ส่วนการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ได้รับบาดเจ็บทุกราย พบเป็นผู้ดื่มสุรามีแอลกอฮอล์ในเลือดเกินมาตรการ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จำนวน 6,111 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มีแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ 1,038 ราย คิดเป็นร้อยละ 17 อย่างไรก็ตาม ถือว่าลดลงจากปี 2563 ที่พบผู้ดื่มสุรารวม 8,283 ราย หรือลดลงร้อยละ 26
ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ตั้งด่านชุมชนเพื่อตรวจคัดกรองผู้ที่เมาแล้วขับไม่ให้ออกสู่ถนน ตามนโยบาย “ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม” ช่วยสกัดผู้ที่ดื่มแล้วขับได้อย่างดี และมีบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเข้มข้นต่อเนื่องใน 3 ประเด็น คือ การห้ามขายให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ห้ามขายลักษณะการลด แลก แจก แถม ชิงโชค และห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แสดงชื่อ หรือเครื่องหมายที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ดื่ม