ศบค.ยืนยันไทยพบผู้ป่วยเพิ่ม 279 ราย ติดเชื้อในประเทศสูงถึง 257 ราย ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว 16 ราย อยู่ใน SQ 6 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 7,163 ราย หายป่วยเพิ่ม 33 ราย หายป่วยสะสม 4,273 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 63 ราย
วันนี้ (1 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 279 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อภายในประเทศ 257 ราย ถือเป็นสถิติใหม่ ค้นหาคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าวพบ 16 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 6 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 7,163 ราย หายป่วยแล้ว 4,273 ราย ยอดสะสมผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 63 ราย
รายละเอียดผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 รายนั้น รายแรก (รายที่ 62 ของประเทศ) เป็นชายไทยอายุ 44 ปี มีประวัติเป็นโรคอ้วน วันที่ 20 ธ.ค.ไปร้านอาหารกึ่งบาร์ใน กทม. วันที่ 26-27 ธ.ค.มีอาการไอ น้ำมูกไหล วันที่ 28 ธ.ค.มีอาการไข้ เหนื่อยหอบ ถูกส่งตัวไปตรวจที่ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ พบว่ามีอาการหายใจเหนื่อยหอบ ออกซิเจนในเลือดลดเหลือ 80 จึงนำตัวส่งไอซียู ใส่ท่อช่วยหายใจ ผลตรวจพบเชื้อ วันที่ 31 ธ.ค.อาการไม่ดีขึ้น จึงถูกนำส่ง รพ.จุฬาฯ และเสียชีวิตในช่วงบ่ายวานนี้ โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 7 คน เป็นคนในครอบครัวและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 2 (รายที่ 63 ของประเทศ) เป็นชายอายุ 70 ปี ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก วันที่ 29 พ.ย.ลักลอบเดินทางเข้าประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติมาจากประเทศเพื่อนบ้าน มีอาการเป็นหวัด อาศัยอยู่กับลูกเขย วันที่ 2 ธ.ค.ลูกสาวจาก กทม.มาดูแล วันที่ 4 ธ.ค.เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐ หลังจากมีอาการเหนื่อยหอบ ตรวจพบเชื้อ จึงรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.จนอาการดีขึ้น ผลตรวจไม่พบเชื้อ แต่เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุ มีโรคหลอดเลือดในสมอง และต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง ทำให้มีอาการปอดอักเสบ หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.เวลา 22.00 น.
ในจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศ 257 รายซึ่งถูกตรวจพบเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการนั้น ผ่านการสอบสวนโรคแล้ว 22 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 235 ราย โดยในกลุ่มที่ผ่านการสอบสวนโรคแล้วนั้นพบว่าเป็นผู้มีประวัติเชื่อมโยงคลัสเตอร์สมุทรสาคร 3 ราย อยู่ในกรุงเทพฯ 2 ราย และนครศรีธรรมราช 1 ราย
มีประวัติเชื่อมโยงคลัสเตอร์ระยอง 2 ราย อยู่ในกรุงเทพฯ 1 ราย และลำพูน 1 ราย
มีประวัติเชื่อมโยงคลัสเตอร์พัทยา ชลบุรี 1 ราย อยู่ในจังหวัดสุรินทร์
มีประวัติเชื่อมโยงสถานบันเทิง สถานที่ชุมชน อาชีพเสี่ยง 16 ราย อยู่ในกรุงเทพฯ 11 ราย นครปฐม 1 ราย ปทุมธานี 2 ราย สมุทรสาคร 1 ราย และอุบลราชธานี 1 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างรอยืนยันการสอบสวนโรคมีจำนวน 235 ราย อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร 89 ราย ชลบุรี 51 ราย ระยอง 37 ราย จันทบุรี 29 ราย สมุทรปราการ 13 ราย ตราด 7 ราย กรุงเทพฯ 6 ราย สระแก้ว 2 ราย และฉะเชิงเทรา 1 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อที่ถูกตรวจพบจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 16 ราย อยู่ในจังหวัดสุมทรสาคร 15 ราย ทั้งหมดรอการสอบสวนโรค และอ่างทอง 1 ราย เป็นแรงงานชาวเมียนมา
มีจังหวัดที่พบการติดเชื้อทั้งสิ้น 53 จังหวัด หลังการระบาดรอบใหม่
ด้านสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลก วันศุกร์ที่ 1 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 83,806,857 ราย อาการรุนแรง 106,378 ราย รักษาหายแล้ว 59,321,908 ราย เสียชีวิต 1,825,709 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 20,445,654 ราย
2. อินเดีย จำนวน 10,286,329 ราย
3. บราซิล จำนวน 7,675,973 ราย
4. รัสเซีย จำนวน 3,159,297 ราย
5. ฝรั่งเศส จำนวน 2,620,425 ราย
ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 136 จำนวน 7,163 ราย