ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันถูกยกให้เป็นหนึ่งในวาระสุขภาพระดับโลก โดยข้อมูลจาก “สมาพันธ์ทันตแพทย์โลก” (FDI World Dental Federation) ที่เปิดเผยเมื่อปี 2562 ระบุว่าปัญหาโรคในช่องปาก เช่น โรคฟันผุ โรคเหงือก ที่สร้างความเจ็บปวด ความอึดอัด กระทบต่อสุขภาพและบั่นทอนคุณภาพชีวิตประชากรประมาณ 3.6 พันล้านคน คิดเป็นจำนวนที่มากกว่าครึ่งของประชากรโลก นอกจากนั้นค่ารักษาที่ค่อนข้างสูงทำให้สถิติของผู้เข้าไม่ถึงการรักษาทันตกรรมเพิ่มขึ้นถึง 38% นับตั้งแต่ปี 2533สะท้อนและแนวโน้มปัญหาดังกล่าวจะรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ขึ้นในปีนี้เนื่องจากคนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้เนื่องจากการทำทันตกรรมต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ กัลฟ์ เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงร่วมมือกับ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ “GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน” โดยในปี 2563 มีการจัดกิจกรรมหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ในพื้นที่ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีประชาชนมาเข้ารับบริการทางทันตกรรมเบื้องต้นให้บริการแล้วไม่น้อยกว่า 300 คน ในการบริการต่างๆ ได้แก่ บริการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบฟลูออไรด์ และเอ็กซเรย์ รวมไปถึงทันตกรรมที่ซับซ้อนอย่างการผ่าฟันคุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สิตมน รัตนาวะดี ในนามตัวแทน นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เล่าว่ากิจกรรมหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ “GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน” มีจุดเริ่มต้นจากจากการที่ทางกัลฟ์ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมที่ผ่านมาซึ่งจากการเข้าไปแจกข้าวกล่องและอาหารในหลายชุมชนได้เห็นว่าโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนต่างๆเป็นอย่างมากโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายมีการควบคุมได้ดีขึ้นจึงมีการหารือกันว่าจะทำโครงการลักษณะใดเพิ่มเติมเพื่อให้การช่วยเหลือชุมชนที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนต่างๆได้
กัลฟ์จึงได้ร่วมมือกับ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำโครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ “GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน” โดยการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ในครั้งนี้เป็นการทำฟันฟรีให้กับคนในชุมชนทั้งนี้ในปี 2563 นี้มีโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 3 ครั้งใน 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านแบนชะโด เขตคลองสามวา,ชุมชนทับช้างคลองบน เขตสะพานสูง และครั้งสุดท้ายของปีนี้เป็นการจัดกิจกรรมที่ชุมชน รอบโรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ เขตบางนา ครอบคลุมการรักษาฟันเบื้องต้น ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับทันตสุขศึกษาเพื่อให้คนในชุมชนรวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) มีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพฟันและช่อปากที่ถูกต้อง โดยกิจกรรมนี้มีพนักงานของกัลฟ์มาร่วมเป็นอาสาสมัครด้วยนับเป็นการสะท้อนพันธกิจเพื่อสังคมของกัลฟ์ภายใต้แนวคิด “Powering the Future, Empowering the People” ที่มุ่งดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างยั่งยืน
รศ. ทพ. ดร. พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะโรคฟันผุและปริทันต์อักเสบ ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงทีจะลุกลามได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน โครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ เป็นโครงการที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นเพื่อช่วยให้คนในชุมชนต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลจากการเข้าถึงสาธารณสุขได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพจากคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่สำคัญการให้บริการทันตกรรมในรูปแบบหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่โดยการรักษาฟรีนั้นถือเป็นการกระจายโอกาสและความเท่าเทียมกันด้านบริการทันตสุขภาพให้ทั่วถึงสู่ชุมชน
เนื่องจากในการเดินทางมาหาทันตแพทย์แต่ละครั้งสำหรับผู้มีรายได้น้อยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีทั้งค่าเดินทาง และการหยุดงานที่อาจทำให้เสียรายได้ ซึ่งการที่ทางกัลฟ์เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพช่องปากแก่ประชาชนผ่านการให้ความรู้ด้านทันตสุขศึกษา และการรักษาที่จำเป็นรวมถึงมีการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดความรู้เรื่องทันตสุขศึกษาให้กับอาสาสมัครในชุมชนเพื่อนำความรู้นี้ไปถ่ายทอดต่อจะเป็นกลไกที่สำคัญที่ช่วยให้สุขภาพภาพช่องปากและฟันของคนในชุมชนดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของการจัดกิจกรรมหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ “GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน”จัดขึ้นภายใต้รูปแบบการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ในรูปแบบ “New Normal” ที่จัดขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามมาตรฐานทันตแพทยสภา อย่างเคร่งครัดโดยภายในสถานที่จัดกิจกรรมจะมีจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิและซักประวัติก่อนเข้าไปยังจุดตรวจสุขภาพฟันเบื้องต้น มีระบบบัตรคิว และการจัดที่นั่งรอหน้าห้องตรวจให้มีการเว้นระยะห่างที่เหมาะสม มีมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานทำฟัน มีการใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เช่น แผ่นป้องกันใบหน้า (Face Shield) แว่นป้องกัน หน้ากากอนามัย ชุด PPE และถุงมือยาง ระหว่างปฏิบัติงาน มีฉากกั้น มีการทำความสะอาดเก้าอี้ทำฟันก่อนและหลังการรักษาทุกครั้ง มีเครื่องดูดละอองฝอย (Extra Oral Suction) เพื่อลดการฟุ้งกระจายของละออง เนื่องจากเป็นสถานที่ปิด จะมีการทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ และทำความสะอาดพื้นที่ ทั้งก่อนและหลังการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่
นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งพัดลมขนาดใหญ่ในพื้นที่ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนและการระบายอากาศ (Air Change) พร้อมทั้งเครื่องพลาสมาที่ช่วยฆ่าเชื้อในอากาศและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดีอีกด้วย กัลฟ์ยังได้สนับสนุนเครื่องดูดน้ำลายความแรงสูง (High Power Mobile Suction) จำนวน 10 เครื่อง เพื่อนำไปใช้ที่หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ซึ่งนอกจากทันตแพทย์ได้มีการใช้ในการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ใน 3 ครั้งที่ผ่านมายังนำไปใช้ประโยชน์ต่อเนื่องได้ในอนาคตได้ด้วย
หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ยังมีความสำคัญในการเป็นเสมือนสนามปฏิบัติงานจริงให้กับว่าที่ทันตแพทย์ในอนาคตได้เรียนรู้ประสบการณ์มากขึ้น น้ำหวาน - นงนภัส ศุภภาววิสิฐ นิสิตปี 5 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ของคณะฯตั้งแต่อยู่ปี 1 ซึ่งการที่ได้มาเป็นจิตอาสาลงชุมชน ทำให้เราได้เข้าใจคนในชุมชน เข้าใจปัญหาด้านสุขภาพช่องปากหรือปัญหาแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การมาเป็นจิตอาสาในแต่ละครั้ง จะได้ช่วยให้ความรู้กับชุมชนซึ่งยังเป็นการทบทวนความรู้ของตัวเองไปด้วยอีกทางหนึ่ง ทำให้ชอบและสนใจที่จะมาเป็นอาสาสมัครในโครงการหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ในลักษณะนี้มาก
ขณะที่ผลตอบรับจากโครงการนี้จากชาวบ้านที่มารับบริการบอกว่ารู้สึกดีใจมากที่มีโครงการลักษณะแบบนี้มาถึงชุมชน คุณลุงประดิษฐ์ จันทร ตัวแทนจากชุมชนบ้านแบนชะโด เล่าถึงการเข้ามารับบริการว่าปกติแล้วตนจะไปหาหมอฟันก็ต่อเมื่อฟันมีปัญหา ปวดฟัน ต้องถอนฟันเท่านั้น แต่พอมีสถานการณ์โรคโควิด-19 ก็ไม่ได้ไปหาหมอฟัน วันนี้จึงเป็นการมาพบหมอฟันครั้งแรกของปี รวมถึงพาลูกชายที่เรียนอยู่ชั้นอนุบาล 1 มาพบหมอฟันเป็นครั้งแรกด้วย
“รู้สึกดีใจที่มีโครงการดี ๆ อย่างนี้ที่ทางกัลฟ์และทีมหมอฟันเข้ามาดูแลคนในชุมชน” คุณลุงประดิษฐ์กล่าวทิ้งท้าย
นับเป็นความสำเร็จของโครงการที่ตอบโจทย์ทั้งการช่วยเหลือชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับการบริการทางทันตกรรม ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตคนชุมชน อีกทั้งช่วยให้เกิดความรู้และประสบการณ์ในการรักษาโรคฟันและช่องปากในยุค New Normal ที่ต้องบริหารจัดการให้ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันโควิด-19 อีกด้วย ในปีต่อ ๆ ไปนอกจากกิจกรรมหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ในชุมชนกรุงเทพฯ แล้วอาจจะมีการขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดอื่นๆเพิ่มเติมได้ โดยยังคงให้ความสำคัญกับชุมชนซึ่งมีที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากศูนย์บริการสาธารณสุขก่อน เพื่อให้กลุ่มผู้ที่ยากจนหรือด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมที่มีคุณภาพได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงได้รับความรู้ด้านการดูแลสุขภาพช่องปากไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง