นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ด้วยความมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด Waste Management ที่เอสโซ่ยึดถือมาโดยตลอด
เราพาไปเปิดผลลัพธ์ความสำเร็จอันเกิดจากไอเดียแนวคิดที่เปี่ยมด้วยจิตสำนึกด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม จนก่อเกิดเป็นโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” กับ “ดร.ทวีศักดิ์ บรรลือสินธุ์” กรรมการ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด...
Send Plastic Home
เปลี่ยนพลาสติกให้เกิดประโยชน์ ลดขยะ
“ช่วงที่เราเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 มีการล็อกดาวน์ และ Work From Home ก็เห็นชัดเจนว่า มีการส่งเดลิเวอรี่เยอะ เพราะคนไม่สามารถออกไปทานอาหารนอกบ้านได้ ก็ส่งผลทำให้เกิดขยะพวกนี้เพิ่มขึ้นถึง 15% จากการใช้บริการรับส่งอาหาร ตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษ เราก็เลยคิดว่า น่าจะมีโครงการที่จะรณรงค์ในการนำขยะเหล่านั้นมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ด้วยการ Recycle และ Upcycle”
ดร.ทวีศักดิ์ บรรลือสินธุ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่มาของโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการปลูกจิตสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถนำพลาสติกเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้อีก ทั้งในอุตสาหกรรมและทางการแพทย์
“การจัดการขยะที่มีประสิทธิผลมากที่สุดก็คือการจัดการคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือนบ้านเราเอง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีจุดรองรับขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังไม่มีระบบที่ชัดเจน ก็อาจทำให้เรา ๆ รู้สึกสับสนกันว่าแยกขยะเสร็จแล้วจะเอาไปทิ้งที่ไหน โครงการนี้เลยมุ่งมั่นที่จะจัดจุดรองรับขยะพลาสติกกระจายตามย่านที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ โดยจะเริ่มนำร่องที่ช่วงหนึ่งของ ถ.สุขุมวิท เพราะเป็นพื้นที่ที่มีขยะพลาสติกมาก จากห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารต่าง ๆ ที่กระจุกอยู่รวมกัน”
ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขยะที่คัดแยกนั้นมีหลายหมวดตามที่ TRBN รวบรวมไว้ แต่หลัก ๆ ถังรองรับของโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” นี้จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ “พลาสติกยืด” และ “พลาสติกแข็ง”
“พลาสติกแข็ง ก็คือพวกขวดเพชรหรือแก้ว ส่วนพลาสติกยืด ก็เช่น ถุงพลาสติก โดยพลาสติกแข็ง ก็จะนำไป Upcycle เพื่อทำเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ (PPE: Personal Protective Equipment) ส่วนพลาสติกยืดก็จะนำไป Recycle เป็นเม็ดพลาสติกก่อนแล้วค่อยนำไปทำเป็นของใช้ เช่น ถุงหูหิ้ว ถุงช้อปปิ้ง หรือภาชนะพลาสติกอื่น ๆ ถือเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ไม่สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อม
“จริง ๆ แล้ว ถังที่ Collect พลาสติก ก็มีมานานแล้ว แต่พอเราทำโปรแกรมนี้ขึ้นมา รู้สึกว่าคนนำขยะมาดร็อปกันเยอะมาก หลายคนบอกว่า ช่วงโควิด พลาสติกเต็มบ้านเลย ไม่รู้จะทิ้งที่ไหน ก็เลยดีใจมากที่มีโครงการนี้” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม
สำหรับจุดนำร่องของโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” นอกเหนือจากที่สำนักงานใหญ่ของเอสโซ่แล้ว ยังมีอีกหลายจุด เช่น สิงห์ คอมเพล็กซ์, เอ็มโพเรียม, เอ็มควอเทียร์, เอ.สแควร์, แบมบีนี่ วิลล่า, บรอกโคลี เรโวลูชั่น, เทสโก้ โลตัส สุขุมวิท 50,เดอะ คอมมอนส์ ทองหล่อ,ซีพี เฟรชมาร์ท สุขุมวิท 39, Veggiology สุขุมวิท 41, Biohouse สุขุมวิท 39, ร้านบุงตงกี่ สุขุมวิท 49, ฟูจิซุปเปอร์สาขาสุขุมวิท 33/1, บมจ.เซปเป้ ถ.รามคำแหง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นต้น
“ระเบิดจากข้างใน”
หัวใจความสำเร็จ
แม้ว่าที่ผ่านมา “เอสโซ่” จะได้เข้าร่วมโครงการด้านสิ่งแวดล้อมมากมายหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น โครงการ “ร่วมใจ ลดขยะทะเล รวมพลัง รักษ์สิ่งแวดล้อม” ณ ชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี ที่โรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ “ร่วมแยกขยะและลดการใช้พลาสติก ใส่ใจสิ่งมีชีวิตในทะเล” เพื่อร่วมกันลดขยะทะเลในบริเวณบางแสน กระตุ้นให้ชุมชนใส่ใจเรื่องการคัดแยกขยะ และเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่น ๆ ตระหนักถึงปัญหาของขยะทะเล ช่วยกันรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติต่อไป หรืออีกหนึ่งโครงการดี ๆ อย่าง “หุ่นยนต์รักษ์สิ่งแวดล้อมชายหาด” ที่มุ่งปลูกฝังเยาวชนให้สนใจและเข้าใจเรื่องปัญหาของขยะ การคัดแยกขยะ ตลอดจนผลกระทบของขยะต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล
อย่างไรก็ตาม โดยความตั้งใจอันแน่วแน่ “เอสโซ่” ยังตั้งปณิธานที่จะมีโครงการซึ่งผลักดันโดยพนักงานของตนเอง และโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ก็ทำให้ปณิธานของ “เอสโซ่” บรรลุเป็นรูปธรรม
“โครงการนี้ เกิดจากพนักงานของเราเป็นคนเริ่มไดรฟ์ พวกเขาเหล่านี้มีความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตระหนักในเรื่องการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดตามหลัก Circular Economy โดยที่คุณยุทธนา เอื้ออัมพร(ที่ปรึกษาฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ กิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์) เป็นผู้ Recruit พนักงานเหล่านี้มาจากหลากหลายแผนก รวมกลุ่มกัน เป็น Volunteer Basis คือจิตอาสาทำโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน”
เพราะทุกการเริ่มต้น ย่อมต้องมี “คน” เป็นส่วนประกอบ ซึ่งสำหรับ “ดร.ทวีศักดิ์” มองว่า การเริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ นำร่อง จะให้เกิดความคล่องตัวและ Run โครงการไปได้อย่างรวดเร็ว เช่นโครงการนี้ที่เริ่มจากพนักงานไม่กี่คน แต่สุดท้ายขยายผลจนเกิด Awareness ทั่วทั้งองค์กร
“เราเริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ ก่อน เพราะพนักงานของเราสามพันกว่าคน ถ้าจะให้มาครบหมดในครั้งเดียว ก็คงจะเคลื่อนตัวลำบาก เราจึงใช้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มนำร่อง เราสร้างคน เราสร้าง Awareness และไม่ใช่สร้างแล้วก็หันหลังกลับ แต่เราสร้างแล้วสร้างอีก สร้างแล้วสร้างเล่า และมีการติดตามวัดผลว่าทำไปแล้ว ได้ผลอย่างไร มีพลาสติกที่คนนำมาทิ้งที่ถังขยะในโครงการของเรามากน้อยแค่ไหน พร้อมทั้งแจ้งให้ Stakeholder ที่เกี่ยวข้องได้ทราบ”
“และที่สำคัญ โครงการนี้เป็นแบบ Bottom Up ครับ” ซีอีโอเอสโซ่ เผยถึง “หมัดเด็ด” ซึ่งเป็นที่มาความสำเร็จของโครงการ
“คือเด็กทำ เด็กริเริ่ม ขณะที่ผู้ใหญ่ก็เป็น Consumer หรือผู้ใช้ พร้อมกับมีคอมเมนท์ลงไป โครงการนี้ไม่ใช่ผู้ใหญ่บังคับนะครับ เด็กเขาทำเอง เขามีจิตอาสา ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าแบบนี้ล่ะจะถาวรกว่าการถูกบังคับ และเน็ตเวิร์กก็จะค่อย ๆ ขยายไปเรื่อย ๆ ด้วยความรู้สึกดีที่คนอื่น ๆ พร้อมจะรับและขยายต่อ ยกตัวอย่างที่เราทำมา เวลานี้ แม้กระทั่งพนักงานที่โรงกลั่นศรีราชาซึ่งอยู่ไกลออกไปร้อยกว่ากิโลเมตร ก็ส่งพลาสติกมาที่เอสโซ่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ คือเก็บจากที่โน่นและส่งมาที่นี่ ซึ่งสิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ได้เป็นอย่างดีว่าเรามาถูกทางแล้ว”
จากความ “ตื่นตัว” และ “ตั้งต้น” ของคนกลุ่มเล็ก ๆ ในองค์กรของเอสโซ่ ก่อนส่งต่อสู่คนทั้งองค์กร และขยายออกไปสู่ชุมชน ประชาชน คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงพลังเล็ก ๆ ของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่สุดท้ายก็เติบโตยิ่งใหญ่ เปรียบเสมือนการ “ระเบิดจากข้างใน” อย่างแข็งแกร่งแล้วจึงแชร์หรือแบ่งปันสู่สังคม
“เราคิดเสมอครับว่า สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่เราก่อน เราไม่ต้องดูว่าคนอื่นทำอะไร ถ้าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง แล้วมันก็จะดีเอง และเราต้องทำให้เป็นตัวอย่าง อย่างผมเป็นพ่อคนหนึ่ง เวลาลูกทำอะไร เราก็ต้องกลับมานั่งย้อนดูตัวเอง เพราะสุดท้าย ลูกเขาจะเชื่อในสิ่งที่เขาเห็น เพราะถ้าพูดอย่างเดียว เขาจะไม่เชื่อนะ เขาจะดูว่า ระหว่างสิ่งที่พ่อพูดกับสิ่งที่พ่อทำ เหมือนกันหรือเปล่า ดังนั้น สิ่งที่ทำจึงมีพลังมากที่สุดในการที่จะทำให้คนทำตาม และการที่คนเราลุกขึ้นมาแล้วนำถุงพลาสติกหรือขวดพลาสติกมาจากบ้าน พ่อแม่ภรรยาสามีพี่น้องก็ต้องรู้ ถือเป็นการปลูกความคิดให้ครอบครัวต่อยอดไปได้ด้วย และอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการทำตามด้วยเช่นกัน
“สุดท้าย เราเชื่อมั่นครับว่า จุดเล็ก ๆ อย่างพวกเรา เริ่มจากคนไม่กี่คน ค่อย ๆ ทำไป อย่างน้อยมันก็จะค่อย ๆ บิลท์ ค่อย ๆ สร้างจิตสำนึกให้ขยายวงกว้างออกไปในระดับสังคม” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวย้ำด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่น
“เริ่มต้น” และ “ส่งต่อ”
มุ่งหน้าสร้างความยั่งยืน
ทั้ง “พลังงาน” และ “สิ่งแวดล้อม”
สุดท้ายแล้วต้องยอมรับว่า โครงการดังกล่าวนี้ที่ทางเอสโซ่ได้เข้าร่วม นับเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์และเจตนารมณ์ขององค์กรไปด้วยในขณะเดียวกัน เพราะ Duo Challenge ที่เอสโซ่ยึดมั่นมาโดยตลอด ก็กอดเกี่ยวผูกพันทั้งเรื่องของ “พลังงาน” และ “สิ่งแวดล้อม” ควบคู่กันไป
“เอสโซ่เป็นบริษัท Oil & Gas ซึ่งมีความท้าทายสองประการที่เราให้ความสำคัญ” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวแจกแจง
“ประการแรก คือทำอย่างไร เราจะสามารถหาพลังงานที่เป็น Reliable Energy หรือพลังงานที่แบบว่าอยากใช้ต้องมีนะ ไม่ใช่ว่ามีบ้างไม่มีบ้าง และต้องเป็นพลังงานที่ Affordable คือราคาจับต้องได้ ไม่แพงจนเกินไป ส่วนอีกหนึ่ง Challenge ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ทำอย่างไรที่เราจะสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ขณะที่เราต้องการผลิตพลังงานให้โลกใช้ เราต้องคิดให้รอบคอบและต้องคิดไกล ๆ ต้องมีการทำ Plan ล่วงหน้า สามารถที่จะคาดการณ์ได้ว่า สิ่งที่เราทำจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร การจัดการทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องนำเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย”
ในด้านสิ่งแวดล้อม ดร. ทวีศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอสโซ่ได้คำนึงถึงเรื่อง Circular Economy คือการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด แม้กระทั่งของใช้ในออฟฟิศ
“บริษัทเรา การใช้ของทุกอย่าง เราใช้อย่างคุ้มค่า Life Cycle จะต้องทำอย่างคุ้มค่า ยกตัวอย่างอย่าง Laptop ถึงเวลา 4 ปี เราต้องอัปเดต แต่เราจะไม่ทิ้งของเก่าให้เป็นขยะ เรานำไปให้ ‘มูลนิธิคุณพ่อเรย์’ ซึ่งช่วยเหลือและดูแลเด็กที่พิการทางสายตา และเด็กเหล่านั้นเขามีทักษะในการซ่อม เราให้พนักงานของเราทำความสะอาดเบื้องต้นก่อน แล้วส่งต่อให้เด็ก ๆ ที่มูลนิธิคุณพ่อเรย์ทำความสะอาดเบื้องปลาย จากนั้นจึงนำไปมอบให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน
“เรามีการ Restacking ของออฟฟิศซัพพลายหลายอย่าง แล้วนำไปมอบให้สภากาชาดไทย และศูนย์เมอร์ซี่บ้าง โรงเรียนบ้าง คือเราทิ้งน้อย เราให้เยอะ หรืออย่างโทรศัพท์มือถือ ที่เราให้พนักงานใช้ เมื่อครบอายุการใช้งาน ถ้าทิ้งไปก็จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เราก็ไม่ทิ้งครับ ที่ผ่าน ๆ มาเราก็มีการนำไปบริจาคเพื่อนำไปรีไซเคิล”
แน่นอนว่า จากสิ่งที่ทำมาทั้งหมดนี้ ล้วนมีรากฐานมาจากแนวคิดขององค์กรในด้านสิ่งแวดล้อม เจตจำนงของการแบ่งปันหรือการให้อย่างที่เอสโซ่ได้ทำมา ล้วนเป็นผลของการคำนึงถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
“อีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมเห็นว่า สำคัญมาก ๆ และอยากจะฝากไว้ตรงนี้ก็คือ เรื่องของการรักในธรรมชาติครับ” ดร.ทวีศักดิ์ เว้นวรรคเล็กน้อย ก่อนกล่าวต่อไป
“จากการที่ผมได้คุยกับภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคการศึกษา ผมบอกเสมอว่า การที่จะทำให้เยาวชนรักในธรรมชาติ ไม่ว่าจะทะเลหรือป่า จะต้องให้เขาสัมผัสถึงความงาม อยู่ห้องเรียน มันสัมผัสไม่ได้ เพราะฉะนั้น โปรแกรมของเราหลาย ๆ โปรแกรม อย่างการปลูกป่าโกงกาง การสร้างบ้านให้ปลาอยู่ที่เกาะแสมสาร (ชลบุรี) หรือโครงการหุ่นยนต์รักษ์สิ่งแวดล้อม เหล่านี้เป็นการทำให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสถึงความงามของธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ และเขาก็จะเห็นว่า เป็นหน้าที่ของเขาส่วนหนึ่งที่จะธำรงรักษาระบบนิเวศเหล่านี้ให้ยั่งยืนในอนาคต ต้องพาเขาไปดู ไปสัมผัสด้วยตัวเอง การปลูกฝังการอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับเยาวชนด้วยการพาพวกเขาไปเห็นไปสัมผัส จะยั่งยืนกว่าดูใน YouTube หรือในหนังสือ”
การได้สัมผัสจริง ได้ลงมือทำด้วยตัวเองจริง ๆ เปรียบเสมือนคีย์เวิร์ดที่ ดร. ทวีศักดิ์ กล่าวย้ำตลอดการให้สัมภาษณ์ เช่นเดียวกับโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ที่สุดท้ายแล้ว ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ในการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นที่ตัวเราลงมือทำเป็นลำดับแรก
“โครงการนี้มีมานาน และจะมีต่อไปครับ ผมคิดว่าเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องช่วยกันรณรงค์ ใช้ของที่ถูกผลิตมาแล้วให้คุ้มค่าที่สุด และสุดท้าย โครงการนี้ที่เราไดรฟ์โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย เขามีเน็ตเวิร์กเยอะ เขาสามารถคอนเน็กต์กับบริษัทที่ต่อยอดเรื่องเม็ดพลาสติกแล้วทำให้มันเกิดประโยชน์มีคุณค่าขึ้นมาได้
“เพราะฉะนั้น อยากจะให้ทุก ๆ คน มาร่วมกันส่งเสริมโครงการนี้ครับ เพื่อที่จะทำให้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อยู่กับเราตลอดไปอย่างยั่งยืน” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย