“ไอติม” หนุนสังคมเปิดใจรับฟังข้อเรียกร้องนักศึกษา ชี้ รัฐธรรมนูญต้นเหตุสกัดกั้นความก้าวหน้าประเทศ ปลุกนักเรียนสร้างความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน ด้าน “Miss Grand 2020” ยืนยัน ทุกคนต้องพูดได้โดยปราศจากความกลัว ประกาศแม้เหลือความหวังเพียง 0.1% ก็จะสู้
การจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “การเมืองของคนรุ่นใหม่ : เปลี่ยนประเทศได้ด้วยตัวเรา” ภายใต้งาน “มหกรรมความยั่งยืน : THAMMASAT SUSTAINABILITY FESTIVAL AND OPEN HOUSE” ประจำปี 2563 โดยมีผู้เข้าร่วมฟังกว่า 500 คนเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา
พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยและทั่วโลกใน 2 มิติสำคัญ ได้แก่ 1. การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ทำให้คนหลายรุ่นเข้าถึงข้อมูลที่แตกต่างกันออกไปมากขึ้น คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งภายในและภายนอกประเทศที่หลากหลายมากไปกว่าข้อมูลที่ถูกคัดกรองจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว นั่นทำให้คนรุ่นใหม่มีความคิดเป็นของตัวเอง และทำให้เขาสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับคุณค่าที่เขายึดถือได้ เช่น ประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ฯลฯ เขาจึงมองว่าตัวเองเป็นคนของประเทศใดประเทศหนึ่งน้อยลง แต่มองว่าตัวเองเป็นคนของโลกมากขึ้น
2. การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียทำให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่มีอำนาจมากขึ้น ตั้งแต่อำนาจในการแสดงความคิดเห็น เห็นได้จากทวิตเตอร์ที่กลายมาเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถพูดคุยในเรื่องที่ตัวเองสงสัยหรือมีคำถามได้ ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นยังมีอำนาจที่จะกดดันผู้มีอำนาจในสังคมได้ เช่น ปรากฏการณ์แฮชแท็กเราไม่เอาเรือดำน้ำ จนทำให้สุดท้ายรัฐบาลชะลอโครงการออกไป
นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนมีอำนาจเรื่องการตรวจสอบผู้มีอำนาจได้มากขึ้น จากในอดีตที่เราต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญคนใดคนหนึ่งศึกษาหาข้อมูลในเรื่องต่างๆ เพื่อตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล แต่ปัจจุบันโซเชียลมีเดียช่วยให้ทุกคนที่มีความรู้แตกต่างและหลากหลายเข้ามาช่วยกันตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว
“แต่ในประเทศไทยเหมือนเรากำลังชักเย่อกันอยู่ คือ ในขณะที่มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เพิ่มอำนาจให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่ แต่เรากลับมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ล้าหลังและถดถอย ดึงให้เรากลับไปข้างหลัง ผมคิดว่าในการชักเย่อนี้ ถ้าผู้มีอำนาจไม่ยอมผ่อนปรน หรือประนีประนอม สักวันเชือกจะขาดและกลายเป็นความสูญเสีย” พริษฐ์ กล่าว
พริษฐ์ กล่าวอีกว่า อยากให้สังคมรับฟังและทำความเข้าใจต่อข้อเรียกร้องกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น เพราะสิ่งที่เขาเรียกร้องไม่ได้มุ่งจะเอาชนะใคร เพียงแต่ต้องการระบบที่เป็นกลางแบบหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่านั้น ส่วนตัวคิดว่าพลังคนรุ่นใหม่นอกจากเปลี่ยนแปลงประเทศแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนของเรา เพราะความเหลื่อมล้ำ ปัญหาทุจริตก็มีต้นตอมาจากโรงเรียน ฉะนั้น ถ้าเปลี่ยนแปลงโรงเรียนได้สำเร็จก็จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้สำเร็จ
พัชรพร จันทรประดิษฐ์ Miss Grand Thailand 2020 กล่าวว่า ประเทศไทยทุกวันนี้เต็มไปด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศไปได้ไม่ไกล โดยความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากปัญหาคอร์รัปชัน ส่วนตัวคิดว่าประชาชนเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์เข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าช่องว่างทางสังคมถ่างออกมากขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ มากไปกว่านั้นคือนโยบายต่างๆ ที่ถูกส่งออกมากลับทำให้คนกลุ่มเดียวได้ประโยชน์ เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่คนยากคนจน หรือคนที่ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีจะเข้าไม่สามารถเข้าถึงได้เลย
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องเสรีภาพในการพูด หรือ free of speech ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่คนพึงมีตั้งแต่เกิด แต่ทุกวันนี้กลับต้องพูดกันภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัว บางคนต้องหายตัวไปอย่างลึกลับ หรือต้องเนรเทศตัวเองออกนอกประเทศเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น หนำซ้ำในหลายครั้ง Free of speech จะถูกคนกลุ่มหนึ่งตีความว่าเป็น Hate speech ซึ่งที่จริงแล้วในประเทศประชาธิปไตยต้องสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ทุกเรื่องโดยที่ปราศจากความกลัว
“ส่วนตัวคิดว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นเพียงการอุปโลกน์ขึ้นมาเท่านั้น แต่ถึงเราจะสิ้นหวังหรือความหวังเหลือน้อยเพียงใดเราก็จะต้องสู้ เหลือเพียง 0.1% ก็จะสู้ ทุกคนต้องพูดได้โดยที่ไม่มีความกลัว ที่สำคัญคือเมื่อทุกคนมีสิทธิก็ควรจะใช้สิทธิตัวเองอย่างเต็มที่ อย่าไปกลัวสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะอนาคตยังไม่เกิด และถ้าในวันนี้ยังไม่ดี อนาคตจะดีได้อย่างไร” Miss Grand Thailand 2020 กล่าว
ด้าน ธนวัฒน์ จันผนึก หรือ “ลูกมาร์ค” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มธ. ในฐานะพิธีกรกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของตัวเอง ขณะนั้นต้องการเลือกรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารที่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจริงๆ จึงเริ่มรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ความโกรธก็เริ่มเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนใดกลุ่มหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นยังหวังว่าแม้ตัวแทนที่ตัวเองเลือกจะไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็ยังสามารถเป็นฝ่ายค้านเพื่อถ่วงดุลการบริหารได้ แต่ปรากฏว่าเกิดการขัดแข้งขัดขา มีการยุบพรรค หรือการกระทำในลักษณะ 2 มาตรฐาน นั่นทำให้ความโกรธเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเห็นแล้วว่าตัวแทนของตัวเองไม่สามารถเข้าไปทำหน้าที่ในสภาได้ ก็จึงออกมาต่อสู้เองด้วยการลงสู่ท้องถนน
“ถามว่ากลัวไหม หากดูจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ต้องตอบว่ากลัว แต่เราก็ยังเป็นว่ามีคนร่วมสู้กับเราจำนวนมาก ถ้าเรากลัวการเปลี่ยนแปลงก็ไม่เกิดขึ้น” ธนวัฒน์กล่าว