องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น "วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimmination of Violence against Women) และสําหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” เช่นกัน
ทั้งนี้ ทั่วโลกได้มีการใช้ริบบิ้นสีขาวเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว
ข้อมูลองค์การสหประชาชาติระบุว่าประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของโลก ผู้ชายใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี มีสถิติคดีประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง โดย 1 ใน 3 เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ โดยกลุ่มที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวและร้องขอความช่วยเหลือมีเพียงร้อยละ 17 จากทั้งหมด
จากการรวบรวมของศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ในปีที่ผ่านมา (2562) เกิดความรุนแรงในครอบครัว 1,376 เหตุการณ์ แต่มีการดำเนินคดีเพียง 354 คดี เฉลี่ยแล้วมีการดำเนินคดีไม่ถึงครึ่งของจำนวนเหตุการณ์จริงทั้งหมด โดย 53% ถูกกระทำความรุนแรงโดยคู่รักหรือคนในครอบครัว และผู้กระทำความรุนแรงมากกว่าครึ่งเป็นคนคุ้นเคยหรือบุคคลในครอบครัว โดยสถานที่เกิดเหตุเกิดมักจะเป็นที่พักของผู้ถูกกระทำ
ทุกวันนี้มีสตรีและเด็กไม่น้อยกว่า 7 คนถูกทำร้ายร่างกายทุกวัน โดยเกิดขึ้นในสถาบันครอบครัว หรือ ‘Domestic Violence’ เหยื่อผู้โดนกระทำส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเรียน ตั้งแต่อายุ 5 -20 ปี มากกว่าครึ่งถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศ จากคนสนิท คนใกล้ตัว และในครอบครัว
ที่ผ่านมาข่าวคราวเรื่องแม่ทำร้ายลูก พ่อทำร้ายลูก หรือพ่อทำร้ายแม่ มีให้พบเห็นบนหน้าสื่อบ่อยมาก ยังไม่นับรวมที่ไม่เป็นข่าว หรือไม่ได้เกิดในสถาบันครอบครัว แต่เกิดในสถาบันการศึกษา สถานที่ทำงาน ฯลฯ
ประเด็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาสังคมที่มีมาโดยตลอด และนับวันจะยิ่งมีแนวโน้มมากขึ้น และถูกเปิดเผยต่อสาธารณะมากขึ้นผ่านสื่อออนไลน์
สาเหตุหลักที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือทัศนคติผิด ๆ ของคนเป็นพ่อแม่ที่มีต่อลูก การคิดว่าเป็นเจ้าของชีวิตลูกแล้วจะทำอย่างไรก็ได้เป็นเรื่องที่มีอยู่จริง ความคิดนี้อันตรายมาก เพราะมักลงโทษลูกด้วยเหตุผลพ่อแม่รักลูก กลุ่มนี้จะไม่รู้สึกว่าการทำโทษลูกเป็นสิ่งที่ผิด แต่จะเชื่อว่าทำโทษจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เพราะทำให้หลาบจำจะได้ไม่ทำอีก โดยหารู้ไม่ว่ายิ่งเป็นการทำร้ายลูกเข้าไปอีก
อีกกรณีที่น่าเป็นห่วงมาก ก็คือพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ อารมณ์ร้อน ยามโกรธก็มักจะบันดาลโทสะ เริ่มตั้งแต่ขึ้นเสียง ใช้เสียงดัง ขว้างปาข้าวของ หรือทุบตีคนใกล้ชิด และพออารมณ์เข้าสู่สภาวะปกติ ก็มักจะคิดได้ และก็รู้สึกผิด
หรือแม้แต่การระบายอารมณ์อาจเกิดจากความทุกข์ใจเฉพาะเรื่อง เช่น ทะเลาะกับเจ้านาย มีปัญหากับเพื่อน มีปากเสียงกันระหว่างสามีภรรยา ทำให้บางทีก็ไปลงที่ลูก ไม่ว่าจะด้วยความรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว แต่ก็ได้ทำร้ายลูกไปเสียแล้ว ยังไม่รวมถึงคนที่ติดสารเสพติดหรือเมาสุรา ที่อาจทำให้เปลี่ยนนิสัยเป็นคนละคน ประเภทปกติเป็นคนใจดีรักลูกมาก แต่พอเมาเหล้ากลายเป็นทำร้ายลูกเมีย หรือกระทั่งลงไม้ลงมือ พอหายเมาก็กลับมาเป็นปกติ
ขณะที่พ่อแม่บางคนก็อาจถูกกระทำความรุนแรงมาตั้งแต่เด็ก พอถึงวันที่ตัวเองเป็นพ่อแม่บ้าง ก็ทำให้ใช้วิธีการจัดการปัญหาด้วยความรุนแรง โดยหารู้ไม่ว่าก็เท่ากับเป็นการสร้างพฤติกรรมที่รุนแรงต่อไปจนถึงรุ่นลูก เพราะการอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรง เด็กจะซึมซับเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เด็กจะกระทำความรุนแรงต่อเพื่อน และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็มีโอกาสจะกระทำรุนแรงต่อครอบครัวตนเองและผู้อื่น
ความจริงเรื่องการทำร้ายลูกหรือสตรี ไม่ใช่เป็นเรื่องทางร่างกายอย่างเดียว แต่ทำร้ายทางด้านจิตใจด้วย พ่อแม่บางคนที่ไม่ตีลูก แต่ใช้วิธีดุด่า ต่อว่า ด่าทอ หรือตวาดเสียงดังใส่ลูกแทน กลายเป็นว่าเด็กไม่เจ็บตัว แต่กลายเป็นเจ็บใจแทน และแผลที่เจ็บใจนี่แหละที่มักฝังอยู่ในความทรงจำ ทำให้เด็กมักเครียด กลายเป็นเด็กเก็บกด กดดัน หรือต่อต้านด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ก็คือ เรื่องการทำร้ายลูกคือสิ่งที่ผิดกฎหมาย แม้จะมีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ระบุลักษณะเด็กที่พึงได้รับการสงเคราะห์และคุ้มครองชัดเจน แต่ข้อมูลที่มีอยู่ก็กระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างกระทรวง ยังไม่มีการบูรณาการ แม้ล่าสุดจะมีความพยายามปรับปรุงระบบการคุ้มครองเด็ก โดยให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม แต่ดูเหมือนยังมีปัญหาที่ยังไม่สามารถป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงใหม่บนโลกเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในปัจจุบันได้ ที่สำคัญประสิทธิภาพและกลไกการคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะบุคลากรในระบบคุ้มครองเด็กยังขาดความเข้าใจ รวมทั้งทักษะและเครื่องมือในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้กระบวนการคุ้มครองเด็กยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
และที่อยากจะถามไถ่ถึงเพิ่มเติมก็คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งได้มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แต่ภาครัฐได้มีการขอเลื่อนและชะลอการใช้พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขนี้ออกไปก่อน ด้วยเหตุผลว่ามีข้อที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงให้ได้ความเป็นธรรมมากขึ้น
สำหรับพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวนั้น มีประเด็นหลัก ๆ ที่เพิ่มเติมคือ การกำหนดให้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ซึ่งเป็นการให้อำนาจหน้าที่แก่สำนักงานพัฒนาสังคมจังหวัด (พมจ.) มากกว่าเดิม จากเดิมที่เป็นแค่หน่วยงานที่รับทราบเรื่องราวและทำหน้าที่ประสานงาน ทั้งยังมีกลไกในกระบวนการยุติธรรม คือเมื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำเนามาให้ศูนย์ดังกล่าว และศูนย์มีหน้าที่เข้าไปดูแลผู้ถูกกระทำความรุนแรง หรือหากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงมาก ศูนย์มีอำนาจที่จะแยกคู่สามีภรรยาออกจากกันได้
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดที่ทำให้ต้องชะลอพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว แต่ก็ควรต้องตระหนักว่าปัญหาเรื่องความรุนแรงในสถาบันครอบครัวก็หนักหนาขึ้นทุกวัน การปรับปรุงข้อกฎหมายก็มีความจำเป็นเช่นกัน จะเฉยเมย หรือชะลอไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ โดยไม่ทำอะไรกระนั้นหรือ !