xs
xsm
sm
md
lg

“ปฏิรูปวิถีแรงงาน เลิกสูบ เลิกจน” ร่วมลดสิงห์อมควัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ในปัจจุบันจะมีการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาบุหรี่ยังถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของคนไทย ไม่ว่าจะทั้งโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ และวัณโรค โดยเฉพาะในของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่ถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

นั่นจึงเป็นที่มาของงาน “ปฏิรูปวิถีแรงงาน เลิกสูบ เลิกจน” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมอีก 3 องค์กรทั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, สวนดุสิตโพล และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
โดย ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงที่มาและใจความสำคัญไว้ ว่า งานในครั้งนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากการร่วมมือของหลายฝ่ายที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้ซึ่งมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พร้อมทั้งเห็นไปถึงอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นต้นตอของปัญหาทางเศรษฐกิจในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งก็คือบุหรี่

“แรงงานไทยเป็นกระดูกสันหลังขับเคลื่อนประเทศ ต้องให้เขารู้เท่าทันพิษภัยบุหรี่ จุดประกายสังคมให้เป็น Thailand free tobacco สู่เมืองปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน”

“เดิมจากการสำรวจ จะพบว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ของผู้ใช้แรงงาน จริงๆ อยู่ในอัตราที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศไทยตอนนี้ ซึ่งเดิมค่าเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 19.01% ประมาณ 10.5 คน หรือก็คือ 1 ใน 5 ซึ่งหลังจากเห็นผลสำรวจครั้งล่าสุดที่เกิดจากร่วมมือกับสวนดุสิตโพล ก็ถือได้ว่า เป็นสัญญานที่ดี เห็นได้ชัดว่า ปัญหาสุขภาพจากการระบาดของโควิด รวมไปถึงปัญหาเศรษฐกิจที่แย่ลง ทำให้ผู้ใช้แรงงานตกงาน รวมไปถึงถูกลดค่าแรง ส่งผลให้ความคิดอยากสูบบุหรี่น้อยลงตามไปด้วย”

ทั้งนี้ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการแก้ปัญหา โดยทาง ศจย.จะขับเคลื่อนผ่านกลไกของสมาพันธ์จังหวัดในการส่งต่อคนอยากเลิกบุหรี่ไปยังสายเลิกบุหรี่ 1600 เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ก่อนจะกล่าวถึงอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของ ศจย. ที่ตั้งใจจะทำให้เมืองไทยมีค่าเฉลี่ยสิงห์อมควันลดลง

“ประเทศไทยเคยประกาศกับองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ไว้ว่า ภายในปี 2568 ประเทศไทยจะลดการสูบบุหรี่ให้เหลืออัตราเพียง 15% ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 19.01% เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถลดได้อีก 4% เราจะถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งถ้าเราช่วยกันขับเคลื่อนในจังหวะนี้ โอกาสที่เราจะได้ซึ่งตัวเลขที่ลดน้อย ก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะฉะนั้น ศจย. เลยอยากใช้โอกาสนี้ที่จะเชิญชวนผู้ใช้แรงงานที่มีความคิดอยากจะสูบน้อยลง ให้เลิกสูบเลยจะดีกว่า ซึ่งถ้าเป็นไปตามผลสำรวจก็มีอีกหลายเปอร์เซ็นต์ที่ต้องการจะเลิกขาดจริงๆ”

ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล
เช่นเดียวกับผลสำรวจจากสวนดุสิตโพลที่ระบุว่า กว่าร้อยละ 64.10 ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่สูบบุหรี่น้อยลง มีการวางแผนที่จะเลิกสูบบุหรี่ โดย ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล ได้กล่าวถึงตัวเลขจากผลสำรวจที่นับว่า เป็นสัญญานที่ดี ที่หลายคนนอกจากจะวางแผนเลิกบุหรี่แล้ว ยังมีการสูบบุหรี่น้อยลงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะทุเลา ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 17.76 โดยมีสาเหตุมาจากรายได้ลดลง รองลงมาคือ ต้องการดูแลสุขภาพ และกังวลว่า การสูบบุหรี่จะทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า ในครั้งนี้สวนดุสิตโพลมีการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก ทั้งในและนอกระบบ เป็นจำนวนกว่า 1,098 คน ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเปรียบเทียบการสูบบุหรี่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2563 กับช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ทุเลาลง ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2563 ทำให้พบว่า

“ในขณะที่กลุ่มที่สูบบุหรี่มาก (11-15 มวนต่อวัน) ร้อยละ 5.01 มีการสูบบุหรี่มากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 ทุเลา เนื่องจากมีความเครียดในการทำงานและความเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 และร้อยละ 29.09 มีการวางแผนที่จะเลิกสูบบุหรี่ โดยจะใช้วิธีการลดปริมาณการสูบ หักดิบ และการใช้ยา ตามลำดับ ในส่วนของผู้ใช้แรงงานที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ส่วนใหญ่มีบุคคลใกล้ชิดสูบบุหรี่ และมีความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพจากคนใกล้ชิดที่สูบบุหรี่”

ซึ่งจากตัวเลขแม้จะถือว่าเป็นที่น่าพ่อใจ แต่ ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ในฐานะประธานสวนดุสิตโพล ก็ได้กล่าวด้วยความเป็นห่วงไปถึงนักสูบหน้าใหม่ ด้วยความเกรงว่า บุหรี่อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสารเสพติดชนิดอื่นๆ ตามมา

รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกรรมการกำกับทิศทางของ ศจย.
ด้าน รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกรรมการกำกับทิศทางของ ศจย. ก็ได้มีการกล่าวถึง ต้นตอปัญหาความยากจนกับการสูบบุหรี่ ที่นับได้ว่า เป็นเรื่องที่ควบคู่กันไปตั้งแต่ในระดับตัวบุคคล ครัวเรือน ไปจนกระทั่งระดับโลก

“บุหรี่เป็นข้าศึก ต่อทั้งรายได้และชีวิตของแรงงานไทย ขณะที่ในระดับโลกพบว่า ผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 84 อยู่ในประเทศยากจนที่เรียกว่าประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกับประชากรวัยทำงานซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ โดยสาเหตุที่สำคัญของการติดบุหรี่ในประชากรวัยแรงงาน มีทั้งปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบการทำงานและปัญหาส่วนตัว ในเชิงโครงสร้างสภาพการจ้างและสภาพการทำงานที่มีชั่วโมงยาวนานระหว่าง 8-12 ชั่วโมงต่อวัน สร้างความเครียดให้กับคนงานได้มากจนอาจต้องหาทางผ่อนคลายด้วยการสูบบุหรี่ ส่วนปัญหาส่วนตัวนั้นอาจมาจากการเลียนแบบบริโภคตามเพื่อนร่วมงานโดยไม่ได้รับรู้ผลร้ายอย่างแท้จริงของการสูบบุหรี่”

ก่อนกล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าต้องการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องทำทั้งการปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างการทำงานให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น และการให้ความรู้ในเรื่องผลร้ายของการสูบบุหรี่ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวมอย่างจริงจัง ก่อนกล่าวย้ำว่า สสส. โดย ศจย. และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จะดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากควันบุหรี่

“ผมคิดว่า ปัญหามันมีสองระดับ ระดับหนึ่งเรื่องของตัวระบบหรือโครงสร้าง ที่เราเรียกว่า สภาพการจ้าง ต้องทำอย่างไรให้สภาพการจ้างไม่ก่อให้เกิดความเครียด และยกระดับตรงนี้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือในระดับของปัจเจกชน ที่ต้องทำอย่างไรให้เกิดความตระหนักรู้ว่า การสูบบุหรี่นั้นส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย รวมไปถึงสภาพจิตใจ ซึ่งผมคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเผยแพร่ความรู้ ซึ่งเป็นงานของ ศจย. อยู่แล้ว เพราะว่าถ้าเราสามารถป้องกันหรือแก้ปัญหาการเสพยาเสตติดเหล่านี้ได้ มันเท่ากับเป็นการปลดล็อคให้กับแรงงานที่มีศักยภาพสูงเหล่านี้ สามารถใช้ศักยภาพตัวเองได้เต็มสูบ”

ด้าน นายอนุชิต ธูปเหลือง รองประธานสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย
ด้าน นายอนุชิต ธูปเหลือง รองประธานสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ก็ได้กล่าวให้เห็นถึงโทษของบุหรี่ ที่ยิ่งสูบ ยิ่งจน ยิ่งเครียด จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ พร้อมแนะนำให้เลิกมากกว่าลด เนื่องจากส่งผลกระทบทั้งกับตนเอง และคนรอบข้าง

“ความเครียดทำแรงงานหลงผิดติดบุหรี่ ต้องทำให้เห็นว่า เลิกสูบ เลิกจน ชีวิตสุขภาพดี มีเงินเก็บเพิ่มขึ้นจริง และนับเป็นเรื่องที่ดีที่จากผลการสำรวจพบว่า เหตุผลที่สูบน้อยลงมาจากเรื่องรายได้ เพราะบุหรี่ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต่อตัวเองและครอบครัว รวมถึงปัญหาค่าใช้จ่ายที่จะเกิดแก่สุขภาพของตนเองในอนาคตด้วย โดยบุหรี่เพิ่มความจนและภาระทางการคลังให้แก่ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล การสูญเสียแรงงานการผลิตอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยและตายก่อนวัยอันควร รวมถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม”

ทั้งยังกล่าวถึงตัวเลขในอนาคตที่คาดว่า จะลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหารายได้ พร้อมมองว่า การเข้าไปให้ข้อมูล เพื่อให้คนตระหนัก น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่เห็นผลในระยะยาวมากกว่า ก่อนกล่าวเน้นย้ำว่า สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ยินดีและพร้อมที่จะร่วมมือเพื่อเข้าไปเผยแพร่ความรู้ไปสู่ขบวนการแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ

“ปัจจุบันมีกล่มผู้ใช้แรงงานกว่า 38 ล้านคน ซึ่งผมว่า มันจะส่งผลต่อเขา ถ้าเราจะช่วยกันเผยแพร่ โดยเริ่มให้ศูนย์จัดการความรู้เข้าไป ผ่านทางสหภาพแรงงานวิสาหกิจ ที่ก่อตั้งมาเพื่อสิทธิและผลประโยชน์ของพนักงาน ตลอดจนเพิ่มพูลความรู้และสวัสดิการ เพราะฉะนั้นประเด็นการสูบบุหรี่ ก็ถือเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งที่เราสามารถที่จะช่วยพัฒนา เพื่อให้เกิดการแก้ไขและป้องกัน จนนำมาซึ่งการลด ละ เลิกต่อไป”

ทั้งนี้ อีกหนึ่งความน่าสนใจจากผลสำรวจของสวนดุสิตโพล ทำให้เห็นถึงความเข้าใจผิดของหลายคนในการอยากเลิกบุหรี่ ที่เข้าใจว่า การเลิกสูบบุหรี่ด้วยวิธิการลดจำนวนมวนบุหรี่ลงนั้นเป็นวิธีที่เหมาะสม ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว วิธีการลดจำนวนมวนลงนั้น ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมและยังคงมีผลต่อสุขภาพเช่นเดิม แม้เพียงมวนเดียวต่อวันก็มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเกือบ 20 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองถึงร้อยละ 40 ดังนั้น หากต้องการลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด จำเป็นต้องเลิกสูบบุหรี่ รวมไปถึงบุหรี่ไฟฟ้า โดยการเลิกเลย ลดจำนวนมวนไม่ได้ผลแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปวิถีแรงงาน เลิกสูบ เลิกจน ระหว่างหน่วยงานดังที่เอ่ยชื่อมาข้างต้น ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะทางด้านสุขภาวะเป็นหลัก แต่นอกจากนั้น ยังทำให้สังคมเล็งเห็นถึงหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งควรจะได้รับการแก้ไขไปพร้อมกับการปฏิรูปในขณะเดียวกัน








กำลังโหลดความคิดเห็น