กระทรวงวัฒนธรรม ทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” แด่ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ชูนิทรรศการที่เกี่ยวกับพระปรีชาสามารถที่เป็นเลิศของพระองค์ในการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายสาขา ทั้งงานทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดนตรี และงานออกแบบ
วันนี้ (29 ก.ย.) นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ครั้งที่ 2/2563 โดยที่ประชุม ได้หารือและพิจารณาใน 3 ประเด็นหลักที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ประกอบด้วย การจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ และเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เนื่องในโอกาสที่ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” แด่ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยมีกำหนดจัดขึ้น ในช่วงที่ สศร. จัดงาน โคราช เบียนนาเล่ ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ระหว่างเดือน มิ.ย.- ก.ย. 64 โดยจะมีการจัดงานเลี้ยงฉลองพระสมัญญา นิทรรศการที่เกี่ยวกับพระปรีชาสามารถที่เป็นเลิศของพระองค์ในการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายสาขา ทั้งงานทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดนตรี และงานออกแบบ
ทั้งนี้ ในที่ประชุม ได้เห็นชอบในการทบทวนยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ในช่วงเดือน ต.ค. นี้ โดยให้มีการปรับโครงการและกิจกรรมที่มีอยู่เดิม เพื่อให้มีการดำเนินงานให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยเน้น กิจกรรม การจ้างงาน การช่วยเหลือ ฟื้นฟูศิลปินศิลปะร่วมสมัยทั้ง 11 สาขาให้มีรายได้ ตลอดจน การเผยแพร่องค์ความรู้ของศิลปินต่อสาธารณชนให้มากขึ้น ทั้งนี้ ให้มีการระงับโครงการที่เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมในต่างประเทศ ทั้ง การอบรม การจัดงานมหกรรมศิลปะเวนิสเบียนนาเล่ การสนับสนุนแฟชั่นโชว์ในต่างประเทศ เป็นต้น
นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบในการประกาศ เปิดรับข้อเสนอกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ในปี 2564 ในกรอบวงเงินจำนวน 10 ล้านบาท เปิดรับข้อเสนอขอทุนระหว่างวันที่ 1-30 ต.ค. นี้ อีกทั้งได้กำหนดกรอบเพิ่มเติมจากเดิม โดยให้มีโครงการที่ทำให้เกิดรายได้ ทำให้เกิดการตระหนักรู้และการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่และกระแสโลกาภิวัตน์ เข้าไปด้วย โดยผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ได้ให้ข้อคิดเห็นถึงการสร้างรายได้ให้กับกองทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดรับบริจาคจากภาคเอกชน จากการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้ง การประมูลของ หรือ กิจกรรมที่สามารถหารายได้ได้มากขึ้น ซึ่งตามพ.ร.บ. พระราชบัญญัติส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ. 2551 ได้เปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา การให้ทุนสนับสนุนปีละ เพียง 10 ล้านบาทน ยังถือว่าน้อยเกินไป เพราะแต่ละปีมีผู้เสนอขอรับทุนมาเป็นหลัก 100 ล้านบาท หากในกองทุนมีเงินมากขึ้นก็จะหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาเพิ่มวงเงินการให้ทุนเพิ่มขึ้นตามมาได้ด้วย