xs
xsm
sm
md
lg

Museum Thailand Awards 2020 ก้าวสำคัญของพิพิธภัณฑ์ไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดินหน้าเพื่อต่อยอดและยกระดับพิพิธภัณฑ์ไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 สำหรับงาน Museum Thailand Awards ซึ่งสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หน่วยงานภายในของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการคัดเลือกพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ในประเทศไทยเพื่อเข้ารับรางวัลพิพิธภัณฑ์ดีเด่นประจำปี ด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจและความตื่นตัวในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีทั้ง “คุณภาพของการบริการ” และ “มาตรฐานพิพิธภัณฑ์ตามแบบสากล”

ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ “มิวเซียมสยาม”
ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า Museum Thailand Awards จัดขึ้นเพื่อเป็นการสรรหาและมอบรางวัลให้แก่พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน ทั้งด้านการบริหารและบริการของงานพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งยังสามารถสร้างประโยชน์ในการต่อยอดความคิดเพื่อนำไปพัฒนาเป็นองค์ความรู้อื่นๆ ต่อไปได้อีกในอนาคต

โดยรางวัลนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามาตรฐาน ด้านการบริหารจัดการ ในวงการพิพิธภัณฑ์ของประเทศไทย และเกิดการพัฒนาความร่วมมือระหว่างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ให้มีการพัฒนาไปพร้อมกันทั้งระบบ และเหนือสิ่งอื่นใดคือทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมสำหรับคนไทยและนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายในระยะยาวให้พิพิธภัณฑ์ของไทยสามารถแสดงศักยภาพได้ในเวทีระดับโลก

ก่อนที่ Museum Thailand Awards 2020 จะมีการจัดมอบรางวัล ในวันที่ 17 กันยายน 2563 นี้ ซึ่งอยู่ในช่วงสัปดาห์ของวันพิพิธภัณฑ์ไทย (คือ 19 กันยายน ของทุกปี) ที่ C Asean รัชดา เราได้รับโอกาสในการสนทนากับ “ราเมศ พรหมเย็น” ในหลายๆ ประเด็นที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจอย่างยิ่ง...

ในเบื้องต้น อยากให้ ผอ.เล่าถึงที่มาของการจัดงาน Museum Thailand Awards ก่อนครับว่าเป็นอย่างไร?

ในส่วนนี้คงต้องเริ่มจากบทบาทของมิวเซียมสยามที่เราต้องการสร้างต้นแบบที่จะทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยให้สามารถตอบโจทย์หรือตอบสนองต่อผู้ใช้บริการให้มากขึ้น ให้ผู้คนเปลี่ยนทัศนคติหรือมุมมองเดิมๆ ที่เคยมีต่อพิพิธภัณฑ์ เช่น มองว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่น่ากลัว สถานที่ที่มีฝุ่นเยอะๆ มืดๆ และมีข้อห้ามเยอะแยะไปหมด เราต้องการเปลี่ยนทัศนคติตรงนั้น ขณะเดียวกันก็ต้องการให้พิพิธภัณฑ์ตอบโจทย์ของคนที่สนใจในเรื่องของพิพิธภัณฑ์ด้วย คือ พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่สถานที่ที่เอาของมาวางๆ แล้วให้คนรุกเข้าไปเพื่อที่จะเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ต้องแอคทีฟมากกว่านั้น คือทำให้ตัวนิทรรศการหรือกิจกรรมการเรียนรู้ตอบโจทย์ประชาชน ดังที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า พิพิธภัณฑ์นั้นจะต้องตอบโจทย์ในเรื่องการเรียนรู้ให้กับประชาชน

พอเราทำต้นแบบตรงนี้แล้ว เราต้องการขยายผลไปสู่เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย เพราะประเทศไทยเรามีพิพิธภัณฑ์ที่ดีๆ อยู่เยอะมาก เนื่องจากในอดีต ประเทศไทยเราเป็นศูนย์กลางความเจริญเติบโต เป็นแหล่งรวบรวมอารยธรรม เรามีมรดกทางวัฒนธรรมมากมาย และมีพิพิธภัณฑ์จำนวนไม่น้อย แต่เรายังไม่เกิดกระบวนการในการที่จะเจียระไนพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นให้สามารถเปล่งประกายในแง่ของความเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ สถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ มีสิ่งที่มีคุณค่า และมีสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

ทีนี้ เมื่อพูดถึงการพัฒนาก็มีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือ การเอื้อมมือเข้าไปพัฒนา เหมือนองค์กรภาครัฐที่ทำทั่วไป คือ ไปเทรนนิ่งแล้วให้ปฏิบัติจริง เหมือนไปจับมือให้ลงมือทำ ซึ่งตรงนี้เราก็ทำอยู่ แต่งานที่คู่ขนานอีกส่วนหนึ่งคือ การสร้างพลังใจและจุดประกายให้พิพิธภัณฑ์ ซึ่งนั่นเป็นที่มาของการจัดงาน Museum Thailand Awards เพราะเราต้องการสร้างพลังให้กับคนที่อยู่ในแวดวง รางวัลอาจจะไม่ได้มีส่วนโดยตรงต่อการพัฒนา แต่เป็นเรื่องของการสร้างขวัญและกำลังใจให้พิพิธภัณฑ์เกิดแรงและพลังใจในการที่จะพัฒนา ให้เขาเกิดกำลังใจว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เขามีศักยภาพ และรางวัลเป็นสิ่งที่สะท้อนหรือแสดงถึงคุณภาพของเขา ถือเป็น ‘สัญลักษณ์’ การันตีพิพิธภัณฑ์ที่ได้พัฒนาตัวเองจนได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ

ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ “มิวเซียมสยาม”
สำหรับการจัดงานในปีนี้ Museum Thailand Awards 2020 มีคอนเซปต์อะไรเป็นพิเศษครับ

ขอย้อนกลับไปสักเล็กน้อยนะครับ ตั้งแต่เราเริ่มจัดงานนี้ เมื่อปี 2017 เราใช้หลักการของสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ (International Council of Museums : ICOM) มาเป็นแนวทางในความคิดพื้นฐาน และกำหนดหลักเกณฑ์ตามบริบทของการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยในทุกปี พร้อมทั้งจัดตั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาเป็นที่ปรึกษา และเป็นคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลฯ เพื่อให้ครอบคลุมการพิจารณาเนื้อหาทั้งหมด

แนวคิดสำคัญประการหนึ่งซึ่งเราชูมาโดยตลอด คือ เราต้องการให้พิพิธภัณฑ์รู้รากของตัวเอง หรือที่เราใช้คำว่า “จากรากสู่โลก” เพราะว่าเราเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก เราก็ต้องรู้รากของตัวเอง ว่าเราเป็นพิพิธภัณฑ์แบบไหน จะต้องพัฒนายังไง และเราจะเติบโตไปอย่างไร ซึ่งเหมือนการขยายผลจากจุดเล็กๆ เราพยายามเริ่มจากจุดเล็กๆ หลายๆ จุด แต่เมื่อมันบานสะพรั่งขึ้นพร้อมกัน มันจะอยู่ในมาตรฐานที่ดีเหมือนๆ กัน

ขณะที่ในปีนี้ สพร. เราพิจารณาคัดเลือกพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น โดยเน้นหนักให้ความสำคัญในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง ‘พิพิธภัณฑ์’ กับ ‘ชุมชน’ หมายถึง พิพิธภัณฑ์จะต้องมีความเชื่อมโยงกับชุมชนในพื้นที่โดยรอบ รวมไปถึงชุมชนของ ‘คน’ ที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ก็ต้องนำเสนอกิจกรรมหรือผลงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราอยากเห็นบทบาทของพิพิธภัณฑ์กับคนกลุ่มเหล่านั้น นั่นหมายความว่า พิพิธภัณฑ์ จะไม่ได้อยู่เดี่ยวๆ แล้ว แต่ต้องมีความสัมพันธ์กับคน ชุมชน และอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ในส่วนของรางวัล มีจำนวนมากน้อยแค่ไหนอย่างไรครับ

โดยรวมทั้งหมดมี 25 รางวัลครับ แต่เรามีการแบ่งรางวัลเป็นหลายประเภท อันดับแรกคือ แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1. พิพิธภัณฑ์ด้านสังคม ศิลปะ และวัฒนธรรม 2. พิพิธภัณฑ์ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 3. พิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม 4. พิพิธภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น โดยทั้ง 4 กลุ่มนี้ จะแยกย่อยออกไปอีกกลุ่มละ 4 ด้าน 4 รางวัล ด้านแรกเกี่ยวข้องกับกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ ด้านที่ 2 คือ การสื่อความหมายและสร้างประสบการณ์ ประชาชนเข้ามาแล้วจะต้องได้ประสบการณ์ที่ดี ด้านที่ 3 คือความสัมพันธ์กับชุมชน การเชื่อมโยงกับชุมชน และด้านที่ 4 คือการอนุรักษ์และสืบสาน

ทั้ง 4 กลุ่มจะมีแบ่งแยกรางวัลออกไปอย่างนี้ รวมทั้งสิ้น 16 รางวัล นอกจากนี้ ยังมีรางวัล Museum Thailand Popular Vote หรือ รางวัลพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน จำนวน 9 รางวัล โดยจะมอบให้กับพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ที่ได้รับคะแนนโหวตจากประชาชนมากที่สุด 9 อันดับแรก และเนื่องจากปีนี้เกิดสถานการณ์โควิด-19 พิพิธภัณฑ์ต้องปิดให้บริการเป็นการชั่วคราวและใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางนำเสนอความรู้มากขึ้น รางวัล Museum Thailand Popular Vote ในปีนี้จึงมีความพิเศษเพิ่มคือ พิพิธภัณฑ์ที่มี Museum Virtual Tour จะได้รับคะแนนเพิ่มเป็น 2 เท่า จากผลโหวตรวมทั้งหมด ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ทั้ง 25 แห่ง ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับมอบโล่เกียรติยศและการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ปีนี้ถือว่าพิเศษสุด คือ เราได้คัดเลือกบุคคลต้นแบบ และเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อสังคม ที่มีผลงานเป็นประโยชน์และเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านสาขาต่างๆ ในการช่วยเหลือสังคม ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ศิลปะวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว โดยใช้ชื่อว่า รางวัล Muse Idol Awards 2020 เพื่อให้บุคคลต้นแบบเป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคมและก่อให้เกิดกระแสการยอมรับในการแสวงหาความรู้และท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ของประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการต่อยอดและค้นคว้าหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นประโยชน์ ต่อสังคม ชุมชน และประเทศชาติต่อไป

ผอ.มองว่า การจัดกิจกรรม Museum Thailand Awards ได้ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับพิพิธภัณฑ์ของไทยอย่างไรบ้าง

การจัดงาน Museum Thailand Awards เป็นการส่งเสริมและปรับมาตรฐานของวงการพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ จากจุดเล็กๆ ขยายไปสู่มุมมองที่ใหญ่ขึ้น เชื่อมโยงจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้เทียบเท่ากับพิพิธภัณฑ์ระดับเมืองให้โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจในแบบเฉพาะตน และสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการท่องเที่ยวด้วย

จากการจัดงานมา 3 ปี และปีนี้เป็นปีที่ 4 ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เป็นอย่างไรบ้างครับ

อันนี้ต้องบอกว่า ชื่นใจเลยนะครับ (ตอบเร็ว) เพราะว่ามีพิพิธภัณฑ์เข้ามาร่วมยื่นใบสมัครเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปีแรกที่จัด ตั้งแต่ปี 2017 มีพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลไปแล้วมากกว่า 50 แห่ง และพัฒนาการที่น่าชื่นใจอีกอย่าง คือ พิพิธภัณฑ์เหล่านั้นได้มีการพัฒนาตัวเอง เขาเปิดรับและปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ขนานใหญ่เลย เพื่อที่จะบอกว่า รางวัลที่เขาได้รับ เป็นสิ่งที่การันตีแล้ว กลายเป็นความท้าทายว่าเขาจะต้องรักษามาตรฐานตรงนี้ไม่ให้ต่ำไปกว่ารางวัลที่เขาได้รับการเชิดชู เพราะถือเป็นชื่อเสียงของพิพิธภัณฑ์นั้นๆ

มีบางพิพิธภัณฑ์เขาบอกว่า แต่เดิมนั้น คนให้ความสนใจเข้าชมน้อยมาก แต่หลังจากเข้าร่วมประกวดและได้รับคัดเลือก ก็มีประชาชนไปเยี่ยมชมมากขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องการพัฒนาฝั่งผู้ให้บริการ แต่ส่วนของผู้รับบริการก็เริ่มให้ความสนใจพิพิธภัณฑ์มากขึ้นเช่นกัน มีการบอกเล่าต่อๆ กันไปว่า ไม่เคยรู้ว่าประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์แบบนี้ด้วย

ความสำเร็จอีกส่วนหนึ่งคือ การก่อเกิดกลุ่มเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ไทยขึ้นมา เช่น พิพิธภัณฑ์เหล่านั้นได้เข้ามามีส่วนในการร่วมกันพัฒนากลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้า ด้วยการเข้าร่วม Thailand Museum Pass เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านพิพิธภัณฑ์ คือ ลูกค้าซื้อบัตรใบเดียวในราคา 229 บาท แต่สามารถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่ง Thailand Museum Pass เป็นเหมือนหน้าต่างอีกหนึ่งบานในการทำประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มพิพิธภัณฑ์ที่เข้าร่วม

นอกจากนี้ ยังมี “กลุ่มพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ที่พัฒนาตามแนวทางการเรียนรู้ Discovery Museum” ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้การเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์เป็นไปอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น และในปีล่าสุด เราได้เห็นกลุ่มพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ที่พัฒนาการนำเสนอความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ชมโดยใช้เทคโนโลยีและช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

นับได้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นความเปลี่ยนแปลงของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยการจัดงาน Museum Thailand Awards ในปีแรก เมื่อปี 2017 เราเริ่มจากเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ สร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ และนำข้อมูลของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ที่เข้าร่วมทั้งหมด มาบริหารจัดการฐานข้อมูลในเว็บไซต์มิวเซียมไทยแลนด์ ในปีแรกเราไม่ได้คาดหวังว่าการจัดงานจะต้องได้รับการยอมรับในวงกว้าง แต่เราได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ ซึ่งมีบุคลากรที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ให้การตอบรับ และส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเยอะมาก เกินที่เราคาดการณ์ไว้

สุดท้ายแล้ว ผอ.มองความสำเร็จของการจัดงาน Museum Thailand Awards 2020 ไว้อย่างไรบ้าง

จากจุดเริ่มต้นในการจัดงานประกวด ตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปัจจุบัน นอกจากที่เราได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายชุมชนพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศไทยแล้ว เราได้เห็นการพัฒนาและการเติบโตของพิพิธภัณฑ์ต่างๆ โดยดูได้จากผลงานที่ร่วมส่งเข้าประกวด มีการจัดทำแบบ virtual exhibition, การจัดทำแบบ presentation หรือทำคลิปวิดีโอต่างๆ ได้เห็นถึงศักยภาพของวงการพิพิธภัณฑ์ไทยที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และมีคุณภาพมากขึ้นทุกปี ทำให้เราในฐานะผู้ริเริ่มโครงการประกวดต้องระดมความคิดกันอย่างหนัก เพื่อสร้างสรรค์ และหาแนวทางในการพัฒนา การจัดงานที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยเป้าหมายที่ต้องการยกระดับมาตรฐานพิพิธภัณฑ์ไทยให้เป็นที่ยอมรับสู่สากล

เรามีความเชื่อมั่นว่า รางวัล Museum Thailand Awards จะเป็นเครื่องหมายแห่งความภาคภูมิใจแด่พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ไทยที่ประสบความสำเร็จ เสริมสร้างความมุ่งมั่น ช่วยยกระดับศักยภาพในการบริหารจัดการให้เจริญงอกงามยั่งยืน อันเป็นรากฐานสำคัญที่เป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนพัฒนาเศรษกิจไทย จากรากสู่โลกต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งในฐานะผู้จัดทำโครงการนี้ ก็จะยังคงไม่หยุดนิ่ง ยังคงเดินหน้าทำเพื่อเป้าหมายของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ต่อไป และขอแสดงความยินดีกับทุกพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ครับ

สำหรับประชาชนผู้สนใจ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของงาน Museum Thailand Awards 2020 ได้ที่ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) โทรศัพท์ 02-225 2777 ต่อ 427 ในเวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 10.00-17.00 น. (ยกเว้นวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) E-mail: museumthailandawards@ndmi.or.th Facebook Page: museumthailand




กำลังโหลดความคิดเห็น