ที่ประชุม ศบค.กทม. เผย หากประชาชนหรือผู้ประกอบการพบแรงงานต่างด้าวที่อาจเข้าเมืองแบบไม่ถูกต้อง ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐทันที เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
วันนี้ (1 ก.ย.) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม. ครั้งที่ 78/2563 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนัก ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มาเป็นเวลากว่า 103 วัน และไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยมากว่า 99 วันแล้วก็ตาม แต่ที่ประชุมขอให้ทุกฝ่ายรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงการระมัดระวังดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลตามมาตรฐานการใช้ชีวิตวิถีใหม่ อาทิ สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนขอให้ประชาชนปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการรวมถึงกรุงเทพมหานครกำหนดอย่างเคร่งครัด ตามคำขวัญที่ว่า “ป้องกันไว้ตลอดเวลา ระลอกใหม่มาเราก็สู้ไหว” เนื่องจากหากประชาชนขาดการระมัดระวังตนเอง และมีผู้ติดเชื้อมาปะปนอาจเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้ และอาจจะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรง และเลวร้ายมากกว่าการแพร่ระบาดครั้งก่อนมาก ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ และการดำรงชีพจะยากลำบากมากกว่าเดิมด้วย
นอกจากนี้ ขอให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าวรวมทั้งประชาชนทั่วไป ร่วมเป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยงานภาครัฐ หากพบเห็นแรงงานต่างด้าวที่อาจเข้าเมืองแบบไม่ถูกต้อง ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่เทศกิจ หรือเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อเฝ้าระวังป้องกันการแพร่เชื้อ เนื่องจากผู้เข้าเมืองโดยไม่ถูกต้อง จะไม่ถูกกักตัวไว้สังเกตอาการซึ่งอาจเป็นพาหะนำโรคโควิด-19 เข้ามาสู่ประเทศไทยได้ และอาจจะทำให้ท่านและบุคคลใกล้ชิดได้รับเชื้อโควิด-19 รวมทั้งอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในกรุงเทพฯ หรือประเทศไทยได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานภาครัฐ และนับเป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ให้ข้าราชการและบุคลากรของหน่วยงานและส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครตรวจคัดกรองโควิด-19 โดยในระยะที่ 1 ได้ตรวจคัดกรองเฉพาะในกลุ่มข้าราชการและบุคลากรที่ต้องให้บริการและติดต่อกับประชาชนเป็นจำนวนมาก เช่น เจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นต้น จำนวนกว่า 83,000 ราย เข้ารับตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยระบบ BMA-Covid ซึ่งผลการคัดกรองพบผู้เข้าเกณฑ์สงสัยติดเชื้อ จำนวน 6 ราย แต่จากการตรวจ SWAB ทางเดินหายใจ ผลการตรวจเป็นลบ คือ ไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้ ในระยะที่ 2 กรุงเทพมหานครจึงกำหนดให้ข้าราชการและบุคลากรในหน่วยงานระดับสำนัก และข้าราชการและบุคลากรสังกัดสำนักงานเขตกลุ่มที่ไม่ได้ให้บริการหรือติดต่อกับประชาชนเป็นจำนวนมากโดยตรง ประมาณกว่า 22,600 ราย เข้าสู่ระบบการตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยระบบ BMA-Covid ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างการเฝ้าระวังและการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ให้กับหน่วยงานอื่นต่อไป