ศบค. เผยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ ยอดผู้ป่วยสะสม 3,411 ราย หายป่วยแล้วสะสม 3,252 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดสะสมคงที่ 58 ราย
วันนี้ (30 ส.ค.) ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า ไม่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติม ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุด อยู่ที่ 3,411 คน จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้ววันนี้เพิ่มขึ้น 10 คน รวมเป็น 3,252 คน และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 101 คน ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย
ด้านสถานการณ์ทั่วโลก พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิดสะสมรวม 25,163,150 คน เสียชีวิตแล้ว 846,734 คน โดยสหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากสุดที่ 6,139,078 คน และเสียชีวิตสูงสุด 186,855 คน รองลงมา คือ บราซิล มีผู้ติดเชื้อสะสม 3,846,965 คน และเสียชีวิต 120,498 คน
ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าว่า ขณะนี้ได้มีรายงานการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศอินเดียและได้ลามเข้าสู่ บังคลาเทศ และเมียนมาร์ ส่งผลให้เมียนมาร์มีการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อรายใหม่แบบก้าวกระโดด สำหรับประเทศไทยซึ่งมีหลายจังหวัดมีพรมแดนติดกับเมียนมาร์ หน่วยงานด้านความมั่นคงและสาธารณสุขในพื้นที่ที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาร์ได้เข้มงวดมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันโรคโควิด-19 ในผู้ที่เดินทาง และแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย
กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือ ผู้ประกอบการชะลอการนำแรงงานจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เข้ามาทำงานในขณะนี้ และไม่สนับสนุนการจ้างงานแรงงานผิดกฎหมาย เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อ โควิด-19 เข้าสู่ประเทศไทย นอกจากนี้ขอความร่วมมือประชาชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน ช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องคนแปลกหน้าที่เข้ามาในชุมชน หากสงสัยขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกัน แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และป้องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในชุมชน
สำหรับประชาชนขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาด เคร่งครัดในมาตรการป้องกันตนเอง ใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ที่ใช้บริการในแพลตฟอร์มไทยชนะ เพราะหากพบผู้ติดเชื้อจะง่ายต่อการติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังควบคุมโรค
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินการในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดี ในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ และเฝ้าระวังป้องกันในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งทางบกและทางน้ำ รวมถึงมีความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ และที่สำคัญความร่วมมือของคนไทยทุกคนที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค จนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ