องค์การเภสัชกรรม ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน สร้างนวัตกรรมการผลิตชุด PPE จากเส้นใย รีไซเคิลตลอดห่วงโซ่อุปทาน “PPE Innovation Platform นวัตกรรมชุด PPE ฝีมือคนไทย มาตรฐานสากล” สามารถป้องกันเชื้อและการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน ที่ระดับ 3 ซักใช้ซ้ำได้มากกว่า 50 ครั้ง พร้อมรับมอบ 500 ชุด จากบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด ส่งเสริมระบบการคัดแยกขยะพลาสติก รีไซเคิล
วันที่ (18 ส.ค.) เวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เป็นประธานแถลงข่าว เปิดตัว “PPE Innovation Platform นวัตกรรมชุด PPE ฝีมือคนไทย มาตรฐานสากล” โดยมีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมแถลงข่าว และประกาศความสำเร็จในการพัฒนาผ้าที่ผลิตเส้นด้าย PET รีไซเคิลสำหรับตัดชุด PPE ประเภท Reusable Isolated Gown Level 3 เป็นรายแรกในประเทศไทย โดยบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ร่วมกับ บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด พร้อมรับมอบชุด PPE จำนวน 500 ชุด เพื่อกระจายส่งให้บุคลากรทางการแพทย์
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม ได้แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ให้มีใช้อย่างเพียงพอ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดการขาดแคลน ที่ผ่านมาได้ประสบความสำเร็จในการจัดทำนวัตกรรม ชุด PPE รุ่นเราสู้ แบบเสื้อคลุมแขนยาวกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ (Reusable Isolation Gown ) มีมาตรฐานความปลอดภัยใช้งานทางการแพทย์ Level 2 ซึ่งสามารถซัก และใช้ซ้ำได้มากกว่า 20 ครั้ง จนสามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ชุด PPE และนวัตกรรมทางการบริหารจัดการรูปแบบการดำเนินงาน หรือ Platform ตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ภายใต้ชื่อ “PPE Innovation Platform นวัตกรรม ชุด PPE ฝีมือคนไทย มาตรฐานสากล” ดำเนินการภายในประเทศ ทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การรีไซเคิลขวดพลาสติกชนิด PET นำมาผลิตเป็นเส้นใยโดยโรงงานที่ได้มาตรฐานระดับโลก นำมาทอเป็นผ้าและตัดเย็บเป็นชุด PPE ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการดูแลรักษาผู้ป่วย และซักใช้ซ้ำได้ 50 ครั้ง ซึ่งปัจจุบันสามารถพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่ป้องกันเชื้อถึง Level 3 ส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้
“เป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยสามารถผลิตชุด PPE รีไซเคิล Level 3 โดยใช้เส้นด้ายที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิล 100% เป็นครั้งแรกได้สำเร็จ จากเดิมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งประชาชนและองค์กรจำนวนมากให้ความสนใจและร่วมมือรวบรวมขวด PET ที่ใช้งานแล้ว เป็นการส่งเสริมให้เกิดระบบการคัดแยกขยะพลาสติก การรีไซเคิล และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม” นายแพทย์โสภณ กล่าว
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา มีความต้องการใช้ชุด PPE สูงมาก คาดการณ์ว่าอาจต้องใช้ถึง 35,000 ชุดต่อวัน องค์การเภสัชกรรมจึงร่วมมือกับภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ร่วมกันสร้างนวัตกรรมและผลิตชุด PPE Level 2 รุ่นเราสู้ ขึ้นใช้ได้เองภายในประเทศ จนสำเร็จ ถึงแม้ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่ชุด PPE ยังมีความจำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์ปกติ และหากมีสถานการณ์วิกฤติหรือมีความจำเป็นขึ้นมา กลไก PPE Innovation Platform จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตชุดPPE ได้อย่างทันท่วงที โดยชุด PPE ที่จะผลิตขึ้นใหม่นี้ จะผลิตตามมาตรฐานการป้องกันเชื้อ ตั้งแต่ Level 3 ขึ้นไปที่สามารถซักและใช้ซ้ำได้มากกว่า 50 ครั้ง
นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ทำการศึกษาข้อมูลทั้งหมดจากแหล่งต่าง ๆ เกี่ยวกับมาตรฐานของการผลิตชุด PPE ห้องปฏิบัติการที่ใช้ทดสอบชุดซึ่งเป็นมาตรฐานสากล กระบวนการต่างๆ ในการผลิตในประเทศไทยจึงเป็นมาตรฐานระดับสากล ทั้งการทอผ้าและการตัดเย็บ ได้เข้าไปดูแลทั้งกระบวนการ มีการทดสอบคุณสมบัติของผ้าและชุดที่ตัดเย็บต้องใช้การตัดเย็บแบบพิเศษ ตะเข็บที่เย็บต้องป้องกันการซึมผ่านของเลือดและไวรัสได้เป็นอย่างดี โดยการทดสอบได้ผ่านภาคีห้องปฏิบัติการ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแห่งเดียว พบว่า ตลอดกระบวนการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานสากล ปัจจุบันจึงได้มีการกำหนดมาตรฐานของประเทศไทยเอง โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) โดยได้ยกร่างมาตรฐานการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. และชุด PPE ที่ได้ตามมาตรฐานสากล ทำให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยศูนย์ความเป็นเลิศด้วนชีววิทยาศาสตร์ (องค์กรมหาชน) ตัวแทนหน่วยงานย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี กล่าวว่า ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการแพทย์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีหน่วยงานด้านการสาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีการดำเนินงานครอบคลุมทุกด้านครบวงจรตั้งแต่การวิจัย พัฒนา ผลิต และผู้ใช้ รวมอยู่ในกลุ่มพื้นที่เดียวกัน หลายหน่วยงาน โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นอกจากศักยภาพในการให้บริการและการวิจัยด้านการแพทย์แล้วนั้น ย่านฯ ยังเล็งเห็นความสำคัญการในพัฒนาพื้นที่และสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้มีความน่าอยู่ การนำวัสดุ ของใช้ที่ไม่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์แล้ว รีไซเคิลกลับมาให้มีศักยภาพใหม่ในรูปแบบ PPE Innovation Platform ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนางานนวัตกรรมรูปแบบใหม่ โดยมีประชาชนและชุมชนในพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาด้วย โดยเราจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นหน่วยสำหรับคัดแยกและรับขวด PET สำหรับนำไปรีไซเคิล เพื่อผลิตนวัตกรรมชุด PPE
ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทสถานี รึไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สุวรรณภูมิ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทมีการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธีแบบระบบครบวงจรเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 40 ปี เก็บรวบรวมขยะที่มีอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ แต่ละวันมีขวด PET ที่คัดแยกแล้วเข้ามาสู่ระบบการซื้อของเก่าประมาณ 500 ตัน/วัน หลังจากนั้นจะมีบริษัทรีไซเคิลนำไปแปรรูปต่อ ขวด PET ที่หมุนเวียนอยู่นี้เป็นเสมือนการสำรองวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตชุด PPE ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งถ้าหากประชาชนมีการคัดแยกขวด PET และส่งต่อให้ทางบริษัทเพิ่มขึ้นก็จะเสมือนเป็นการเพิ่มการสำรองให้มีเพิ่มมากขึ้น นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มคุณค่า รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สร้างรายได้ให้กับประชาชน ช่วยระบบสาธารณสุขในภาวะวิกฤติและภาวะปกติอีกด้วย
นายริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการนำขวด PET ที่ใช้งานแล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานระดับโลก นำไปพัฒนาเส้นด้ายคุณภาพสูง สำหรับผลิตชุด PPE Level 3 ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ดำเนินการอยู่ ทำให้เกิดประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ต่อสังคมโดยรวม รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้งานพลาสติก ซึ่งก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด 19 ขยะพลาสติกมักถูกมองเป็นมลภาวะต่อสังคม แต่ในวันนี้ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปแล้วว่า พลาสติกเป็นวัสดุที่ช่วยเพิ่มสุขอนามัยและความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี สามารถสร้างประโยชน์ได้หลากหลายหากใช้ในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งวิธีจัดการพลาสติกหลังจากใช้งานตามแนวทางดังกล่าว เป็นการลดการนำเข้าเส้นด้ายจากต่างประเทศ
นายสุพจน์ ชัยวิไล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด ผู้ผลิตสิ่งทอชั้นนำ กล่าวว่า ด้วยนวัตกรรมการทอที่ทันสมัยของบริษัท ทำให้สามารถผลิตผ้าด้วยเส้นด้ายที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิล 100% สำหรับตัดเย็บชุด PPE Level 3 ได้สำเร็จเป็นรายแรกของไทย ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าที่สามารถป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ของไทยให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ชุด PPE จำนวน 1 ชุด ผลิตจากเส้นใยที่นำขวด PET ขนาด 600 มิลลิลิตร ประมาณ 18 ขวด ตัดเย็บเป็น 2 ชั้น เพื่อการป้องกันที่ดีกว่า แต่ยังคงคุณสมบัติสวมใส่สบาย เคลือบสารพิเศษที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ และป้องกันการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน (Hydrostatic Pressure) สามารถนำไปซักทำความสะอาด และนำกลับมาใช้ซ้ำได้ใหม่มากถึง 50 ครั้ง ผ่านมาตรฐานป้องกันการซึมผ่านของเลือดและไวรัส โรงงานที่ทำการตัดเย็บชุด PPE เป็นโรงงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
นายจำนงค์ นวสมิตวงศ์ ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ประกอบการด้านสิ่งทอและตัดเย็บอยู่เป็นจำนวนมาก มีศักยภาพในการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เนื่องจากผู้ประกอบการด้านสิ่งทอและตัดเย็บส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิตให้กับสินค้าแบรนด์ระดับโลกอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมในการดำเนินการดังกล่าว สมาพันธ์และบริษัทผู้ตัดเย็บจากเริ่มต้นที่มีอยู่ 13 บริษัท ได้ขยายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีความยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจ ครั้งนี้ ในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที
นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง PPE Innovation Platform ด้วยการพัฒนา model การแยกขยะในโรงพยาบาลและชุมชน ซึ่งในพื้นที่จังหวัดนครปฐมมีขยะที่เป็นขวด PET อยู่เป็นจำนวนมาก และนำส่งบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเส้นด้ายสำหรับผลิตชุด PPE ต่อไป
“ทั้งนี้ ชุด PPE มีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยที่สงสัยจะติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือผู้ป่วยโรคอื่นๆ เช่น การทำหัตถการในห้องปราศจากเชื้อ ห้องผ่าตัด การทำแผล การสอดใส่อุปกรณ์เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย การจับอุปกรณ์เครื่องมือปราศจากเชื้อในการผ่าตัด/หัตถการ ใช้ป้องกันการกระเด็นของเลือดและสารคัดหลั่ง การสอดใส่อุปกรณ์เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย จับอุปกรณ์เครื่องมือปราศจากเชื้อสัมผัส/จับต้อง สิ่งที่คาดว่าอาจมีการปนเปื้อน สิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย เครื่องมือที่ใช้กับผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีโอกาสติดต่อทางสัมผัส และตามมาตรฐานหลักขององค์กรอนามัยโลก ได้กำหนดให้มีการใส่ชุด PPE เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากร ทางด้านสาธารณสุข ในทุกขั้นตอน”