“ดร.สมพงษ์” ชี้ปัญหาเด็กเยาวชนทวีความรุนแรง คาด 10 ล้านคน ต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา เผย ระบบโครงสร้างล้มเหลวและเดินไปผิดทาง ผลิตเด็กที่ไม่มีคุณภาพ แฝงไปด้วยความรุนแรง จี้รัฐทบทวน มุ่งไปที่ปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่โรงแรม ไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ โครงการการพัฒนาศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา “เปลี่ยนโลกสีเทาของเยาวชน” เพื่อนำเสนอผลวิจัยและแลกเปลี่ยนเชิงนโยบาย โดยมีตัวแทนเครือข่ายคนทำงาน ด้านเด็กและเยาวชน รวมถึงตัวแทนนักศึกษา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมหาข้อสรุปและแนวทางพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อไป
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เวทีนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน นักเคลื่อนไหวทางสังคม ได้มาแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประมวลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยอ้างอิงจากเหตุการณ์และผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นจริง จากการศึกษาสะท้อนว่า ความเหลื่อมล้ำของเด็กและเยาวชนเกิดจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ ปัญหาด้านโครงสร้างของประเทศ ปัญหาครอบครัว ปัญหาสถานศึกษาที่ไม่ปลอดภัย และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย ยิ่งเมื่อเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงขึ้น จนอาจทำให้เด็กกว่า 10 ล้านคน ต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา กลายเป็นแรงงานนอกระบบในระยะยาว ส่วนปัญหาเด็กกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่อยู่ในสถานพินิจ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบโครงสร้างของประเทศไทยกำลังล้มเหลวและเดินไปผิดทาง ด้วยการผลิตเด็กที่ไม่มีคุณภาพและแฝงไปด้วยความรุนแรง ภาครัฐควรหันกลับมาทบทวนนโยบาย มองปัญหาครอบครัว สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ แทนที่จะมุ่งไปแต่เรื่องเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา
“จากงานวิจัยสามารถจำแนกประเด็นเด็กและเยาวชนได้ 10 เรื่อง อาทิ ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ที่พบว่ายังมีอยู่ทั่วโลกมากกว่า 263 ล้านคน ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ การปิดกั้นพื้นที่ทางความคิด พื้นที่ประชาธิปไตย ระบบอำนาจนิยมครอบงำเด็กและเยาวชน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการหล่อหลอมเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ในครอบครัวจนถึงโรงเรียน มีการใช้ระบบอำนาจนิยมเพื่อควบคุม สั่งการ จำกัดสิทธิ เสรีภาพ การแสดงออกของเยาวชนถูกกดทับ ไม่เป็นตัวตนแบบที่อยากจะเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อกรอบความคิด การเคารพซึ่งความแตกต่าง และมุมมองคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน สำหรับผลสรุปที่ได้จากงานวิจัยจะถูกวิเคราะห์รวบรวมนำเสนอต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปัญหาเด็กและเยาวชนได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา ผู้รับผิดชอบโครงการวิจัยแนวทางการจัดการศึกษาทางเลือกสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ในปี 2561 มีเด็กและเยาวชน 30,000 ราย ที่อยู่ในระบบการดูแลของกรมพินิจฯและศูนย์ฟื้นฟูต่างๆ แม้ภายในศูนย์มีการฝึกทักษะอาชีพ รวมถึงหลักสูตร กศน. ให้กับเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา แต่โครงสร้างการศึกษาดังกล่าวไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความสนใจหรือความถนัดของเด็ก ดังนั้น กรมพินิจจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการศึกษาทางเลือก เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ จัดการศึกษาสามัญให้เด็กกลุ่มเสี่ยงได้ ซึ่งจากผลงานวิจัยในการจัดการศึกษาดังกล่าวจะเน้นให้เด็กเรียนตามความสนใจและความถนัด โดยใช้หลักสูตรที่ยืดหยุ่น พร้อมพัฒนาศูนย์ฟื้นฟูให้เป็นศูนย์การศึกษาทางเลือกที่พร้อมส่งต่อการศึกษาอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้ การผลักดันหลักสูตรให้เกิดเป็นรูปธรรมต้องอาศัยความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วยขับเคลื่อนกระบวนการทางกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ในระยะยาว
ขณะที่ ดร.อรรฏชณม์ สัจจะพัฒนกุล ผู้รับผิดชอบโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ “พลเมืองเด็กและเยาวชนรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล” ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การศึกษาปัญหาเชิงลึกของเด็กและเยาวชนจะแบ่งเด็กเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ขนาดใหญ่ประจำอำเภอ และขนาดเล็กที่อยู่ตามชายขอบจังหวัดพิษณุโลก พบว่า เด็กจะรับสื่อตามสมรรถนะการเรียนรู้เบื้องต้นที่มี ดังนั้น การที่เด็กจะรู้เท่าทันสื่อ ที่ไม่ใช่แค่การรู้เท่าทันข่าวสาร ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายสิ่ง ทั้งความเสมอทางการศึกษา ระบบนิเวศวัฒนธรรมทางสังคม รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ หากจะให้การรู้เท่าทันสื่อเกิดขึ้นได้จริง ภาครัฐต้องพลิกบทบาทของตัวเอง และเปลี่ยนกระบวนทัศน์การเรียนรู้ใหม่ ด้วยการพยายามลดช่องว่างทางโอกาสของเด็กๆ ให้ลดลง
“การรู้เท่าทันสื่อต้องผูกโยงกับเรื่องของพลเมือง เพราะการรู้เท่าทันสื่อเป็นสิทธิพื้นฐานในการรับรู้ ดังนั้น ภาครัฐไม่ได้มีหน้าที่คุ้มครองและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่รัฐต้องมาช่วยสนับสนุน ดูแลอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมให้เกิดรัฐสวัสดิการ ความเสมอภาคทางการศึกษาที่ดี และการแก้ไขปัญหาที่บูรณาการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ สร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น และใช้งบประมาณที่รัฐมีจากภาษีของประชาชนเพื่อประชาชนมากยิ่งขึ้น จะช่วยให้การรู้เท่าทันสื่อประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของการศึกษาไทย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเรียนรู้ของเด็กๆ”
ขณะที่ ดร.สุรชัย เฉนียง ผู้รับผิดชอบโครงการพฤติกรรมเสี่ยงฆ่าตัวตายในมุมมองของวัยรุ่นในจังหวัดนครพนม กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายของเด็กและเยาวชนมาจากความเครียด ซึ่งปัจจัยเกิดจากการคาดหวังของครอบครัว ในเรื่องการเรียน ความรัก รวมถึงการนำเสนอเนื้อหาของสื่อที่ไม่เหมาะ ส่งผลต่อพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ ดังนั้น แนวทางแก้ที่เร่งด่วน คือ สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน เชื่อมโยงหน่วยงานสำคัญ ขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ ยกระดับโรงเรียนให้เป็นต้นแบบและมีคุณภาพ มีแอปพลิเคชันส่งเสริมการป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิต และ อปท.สาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขจังหวัด ต้องสร้างภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังเด็กกลุ่มเสียง พร้อมพัฒนาองค์ความรู้ด้านปัญหาสุขภาพจิต