สสส.- เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน หนุนการใช้ประกาศกระทรวง ศธ. กำกับดูแลโรงเรียน/สถานศึกษาปลอดน้ำอัดลม-ขนมกรุบกรอบ-ห้ามส่งเสริมเครื่องดื่มทุกประเภท ลดโรคในช่องปาก หลังพบปัญหาเด็กวัยเรียนฟันผุครึ่งประเทศ หนักสุดในอายุ 5 ปี มีฟันน้ำนมเป็นรู 70% เหตุจากกินอาหาร-เครื่องดื่มน้ำตาลสูง ส่งผลต่อพัฒนาการ-ทักษะการเรียนรู้ แถมพ่วงโรค NCDs
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ร่วมกับ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนการลดพฤติกรรมบริโภคหวานในเด็กไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลดบริโภคน้ำตาลและความหวานในโรงเรียน เพื่อลดวิกฤตปัญหาสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียน เนื่องจากพบว่าเด็กนักเรียนบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ เช่น ดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน รับประทานลูกอมและอาหารที่มีน้ำตาลสูงเกินมาตรฐาน เพิ่มโอกาสเกิดฟันผุ เหงือกอักเสบ ปวดฟัน ซึ่งรบกวนการดำเนินชีวิต กระทบต่อพัฒนาการและความสามารถในการเรียนรู้ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs โดยเฉพาะโรคอ้วนลงพุง
“ปี 2563 การดำเนินงานเรื่องสุขภาพช่องปากในนักเรียน มีความก้าวหน้า โดยผลจากการขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกประกาศเรื่องมาตรการและแนวทางการสร้างเสริมความรอบรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพช่องปากและการเลือกรับบริการทางทันตกรรม ซึ่งแนวทางดำเนินงานสำคัญ คือ ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องสุขภาพช่องปากที่เชื่อมโยงถึงสุขภาพโดยรวมและผลกระทบให้นักเรียนเข้าใจ จัดการเรียนรู้เรื่องสุขภาพช่องปากทุกระดับชั้น จัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาให้เอื้อและสนับสนุนการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก สนับสนุนให้เกิดต้นแบบโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม กว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ และมีการจัดการโรงอาหาร โดยปรับรสชาติอาหารลดหวาน มัน เค็ม รวมถึงปลอดสื่อโฆษณาขนมและเครื่องดื่ม พร้อมทั้งสร้างแกนนำเยาวชนขยายความรู้ ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งพบว่าการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดน้ำตาล นับเป็นมาตรการที่สำคัญในการป้องกันเด็กฟันผุและเด็กอ้วนให้ลดลง หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า ผลสำรวจนักเรียนอนุบาลถึงนักเรียนประถมศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียน พบว่า เกิดฟันผุในระยะเป็นรูถึงร้อยละ 50 เฉลี่ย 1-2 ซี่ต่อคน สะท้อนเด็กไทยครึ่งประเทศป่วยโรคฟันผุ นอกจากนี้ ยังพบปัญหารุนแรงในเด็กอายุ 5 ปี เกิดโรคฟันน้ำนมผุ ร้อยละ 70 จึงควรส่งเสริมมาตรการในสถานศึกษาเพื่อป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ ควบคู่ไปกับการเข้าถึงบริการทางทันตกรรม ทั้งนี้มาตรการจากประกาศ ศธ. ถือเป็นเครื่องมือช่วยให้ทีมทันตสาธารณสุขทำงานร่วมกับครูและผู้บริหารโรงเรียนได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น มีความต่อเนื่องทางนโยบาย ขณะนี้มีการร่างแผนยุทธศาสตร์ทันตสุขภาพชาติ 20 ปี มีเป้าหมาย “ลดอัตราการเกิดโรคฟันผุในอีก 5 ปีข้างหน้า ในเด็กอายุ 6-12 ปี ไม่เกินร้อยละ 10 อายุ 3 ปี ไม่เกินร้อยละ 30 ส่งผลต่อการเก็บรักษาฟันถาวร เมื่อสูงอายุจะมีฟันใช้งานได้มากกว่า 20 ซี่” พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้สังคมไทย
“ประกาศของ ศธ. ฉบับนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ และเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบต้องดำเนินการตามประกาศอย่างเคร่งครัด โดยหลีกเลี่ยงการจำหน่ายหรือการจัดให้บริโภคเครื่องดื่มรสหวานที่มีน้ำตาลสูง ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบในสถานศึกษา สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ร้านค้ารอบรั้วโรงเรียน ห้ามทำการส่งเสริมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มทุกประเภทในสถานศึกษา ถือเป็นมาตรการชัดเจนให้ปฏิบัติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด มีหน้าที่กำกับดูแลให้สถานศึกษาทำตาม และรายงานผลต่อต้นสังกัดทุกสิ้นภาคการศึกษาด้วย” ทพญ.ปิยะดา กล่าว